Soft Power พลังเคลื่อนเศรษฐกิจ

แพทองธาร ชินวัตร
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

โค้งสุดท้ายของปีนโยบาย Soft Power ยังเป็นคีย์เวิร์ดที่มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และถือเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล โดยจะขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

เมื่อครั้งที่ “แพทองธาร ชินวัตร” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มาขึ้นเวทีในงานสัมมนา “Thailand 2024 Beyond Red Ocean” ของ “ประชาชาติธุรกิจ” กล่าวว่า ถ้าจะทำให้สำเร็จต้องทำทั้งระบบ สร้างกลไกพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ พัฒนาทั้งอุตสาหกรรมและ “คน”

โดยดำเนินการผ่านหน่วยงานชื่อ Thacca-Thailand Creative Content Agency ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.แฟชั่น 2.หนังสือ 3.ภาพยนตร์ 4.เฟสติวัล 5.อาหาร 6.การออกแบบ 7.ท่องเที่ยว 8.เกม 9.ดนตรี 10.ศิลปะ และ 11.กีฬา

เรื่องการพัฒนา “คน” มีนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์-One Family One Soft Power หรือ OFOS” ซึ่งเนื้อแท้คือการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับคนในแต่ละครอบครัว

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ นโยบายต่างประเทศเชิงรุก

“การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่มีหลักสูตรชัดเจน ไม่ใช่เรื่องที่ทำทางลัดได้ ไม่ใช่เรื่องที่สามารถเร่งกระบวนการทุกอย่างได้ แต่วันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้เริ่มแล้ว ภาคเอกชนก็เริ่มแล้ว ต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เราจะวางยุทธศาสตร์สร้าง Soft Power ให้ประเทศไทยกลับมามีตัวตนอีกครั้ง”

รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ใน 11 สาขานี้ เพื่อสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง และสร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาทต่อปี

คำว่า Soft Power แปลตามอักษรตัวคือ “อำนาจละมุน” ซึ่งก็คือการใช้อำนาจด้วยวิธีที่นุ่มนวล เป็นความสามารถในการชักจูงใจทำให้ผู้อื่นพึงพอใจ หรือเต็มใจเปลี่ยนพฤติกรรม ยอมรับ คล้อยตาม มีการนำซอฟต์พาวเวอร์ ไปผูกโยงกับการทำการตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ มากมาย

ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ “แพทองธาร” ย้ำว่า ซอฟต์พาวเวอร์จะเป็นนโยบายหลักผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น

“ทุกวันนี้คนพยายามนิยามคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ดิฉันคิดว่าการให้คำนิยามเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยที่สุด รัฐบาลกำลังทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ผลักดันอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ เน้นเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นพลังอำนาจที่เมื่อเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมใดมีคนคล้อยตามโดยไม่ต้องบีบบังคับ”

ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายต่อวัฒนธรรมและประเทศเหล่านั้น จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย ทั้งกับภาคธุรกิจและคนไทย เป็นการนำ “สินทรัพย์ทางปัญญา” ที่มีคุณค่าให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สร้างงานและเพิ่มรายได้มากขึ้น

และว่าจะต้องทำทั้งระบบต่อเนื่องในระยะยาว ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยรัฐบาลสนับสนุนให้เอกชนที่รู้จริงนำซอฟต์พาวเวอร์ไปทำให้เป็นไปได้จริง

ประเทศที่มี Soft Power มากที่สุดจากการจัดอันดับผ่านผลสำรวจ Global Soft Power Index 2022 ของ Brand Finance บริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์แบรนด์ อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา ตามด้วยสหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย อยู่อันดับที่ 35 จาก 120 ประเทศ

นโยบายส่งเสริม Soft Power ในแต่ละประเทศมีความเหมือนและแตกต่างกัน

ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า สหรัฐอเมริกามีการใช้ Soft Power ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Hollywood สร้าง American Pop Culture เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก ผ่านเพลง แฟชั่น วิถีชีวิต และแนวคิด ที่ใส่ลงไปในภาพยนตร์ โดยสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา ระบุว่า Hollywood สามารถทำรายได้ให้กว่า 2.06 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีมูลค่าส่งออก Hollywood Content ไปทั่วโลก 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

หรือแถบเอเชีย “จีน” มีนโยบาย Soft Power ด้วยการสร้าง Friend of China ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีน เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งไม่ใช่แค่ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูมิศาสตร์วัฒนธรรม (Geoculture)

ขณะที่ญี่ปุ่น หลายคนคงคุ้นเคยกับ “การ์ตูนมังงะ” (Manga) หลายเรื่องเป็นที่รู้จักของนักอ่านการ์ตูนทั่วโลก โดราเอม่อน ดราก้อนบอล นารุโตะ วันพีซ หรือสแลมดังก์ ความโด่งดังของมังงะเป็น Soft Power สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศจากการผลิตเป็นสิ่งพิมพ์ ดิจิทัล แอนิเมะ ต่อยอดไปผลิตเป็นสินค้าจำนวนมาก

แม้ว่าธุรกิจอื่นจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แต่รายได้ของมังงะในปี 2021 ทั้งแบบสิ่งพิมพ์และดิจิทัลในประเทศญี่ปุ่น กลับสูงถึง 6.76 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึงร้อยละ 10.3

สำหรับประเทศไทยจะสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ใน 11 อุตสาหกรรมอย่างไรถึงจะสร้างเงิน สร้างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทำให้ประเทศอื่น สังคมอื่นโอบรับวัฒนธรรมของเรา เหมือนที่คนไทยชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่น ซีรีส์เกาหลี และภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด แต่ถึงจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา ในหลายแง่มุม แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่อยากเห็น Soft Power ของไทยไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับคืนสู่ประเทศเช่นกัน