ลดดอกเบี้ย ลดภาระประชาชน

หนี้ครัวเรือน
คอลัมน์ : สามัญสำนึก 
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ในขณะที่บางหน่วยงานยังเถียงกันถึงนิยามคำว่า “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” แต่ถ้าออกไปเดินตามตลาด พูดคุยกับแม่ค้าพ่อค้าแถวตลาดนัดรวมยางตรงข้ามแบงก์ชาติ ประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือนจะได้ยินเสียงบ่นคล้ายกันว่าเงินในกระเป๋าเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะคนที่มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ต่างประสบภาวะใกล้เคียงคำว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เข้ามาทุกที

การประชุม กนง.รอบล่าสุด (7 ก.พ. 2567) ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี จึงทำให้มวลมหาประชาชนคนที่เป็นหนี้ทั้งหลายผิดหวังไปตาม ๆ กัน เพราะแบกภาระหนี้หลังแอ่นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

คนไม่เคยเป็นหนี้คงไม่เข้าใจ

ด้วยว่า กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องครั้งละ 0.25% จนมาถึงระดับ 2.50% ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2566 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 2.00% ต่อปี หรือปรับขึ้น 8 ครั้งต่อเนื่อง

อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาจาก 0.50% เป็น 2.50% ทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้น 30-40%

ใครที่กำลังผ่อนบ้านผ่อนคอนโดมิเนียมจะรู้ซึ้งเป็นอย่างดี เพราะภาระในการผ่อนในแต่ละเดือนจะขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สถาบันการเงินส่วนใหญ่มักเสนอแพ็กเกจการกู้สินเชื่อบ้านในปีแรก ๆ ด้วยอัตราดอกเบี้ยคงที่ เช่น อัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรก คงที่ 3.5% ต่อปี แล้วในปีที่ 4 มักเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เช่น อัตราดอกเบี้ย MRR-1 เท่ากับว่าตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ยจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับดอกเบี้ย MRR ในขณะนั้น

ทุกการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายทำให้ภาระการผ่อนเพิ่มขึ้น เช่นกัน ถ้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเร็วเท่าไรก็จะช่วยลดภาระของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังเป็น “หนี้” ลงได้

การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูง นอกจากทำให้ภาระหนี้สูงขึ้นแล้ว ยังกระทบต่อกำลังซื้อ และความมั่นใจของคนอีกด้วย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เองก็ยังออกมาเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างจริงจัง เพื่อลดภาระภาคครัวเรือน และ SMEs รวมไปถึงการใช้มาตรการผ่อนคลายสินเชื่อบัตรเครดิต โดยปรับลดการชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต จาก 8% เหลือ 5% ไปอีกสักระยะเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ให้มีกำลังในการใช้จ่าย และช่วยให้กลุ่มเอสเอ็มอีไม่เป็นหนี้เสีย

ตามข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน อยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้น 6.6% ขณะที่หนี้กลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ หรือ Special Mention (SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกันราว 6.1 แสนล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า

เลขาฯสภาพัฒน์ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงิน เนื่องจากมองว่าฝั่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการการคลังต่าง ๆ เกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว มาตรการสนับสนุนการลงทุนใหม่ในประเทศ และการเร่ง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 การเร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบฯประจำและงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ

“นพรัตน์ กุลหิรัญ” เจ้าของฉายา มาดามรถถัง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรีเม็ททอลแอนด์รับเบอร์ จำกัด บริษัทของเธอมีคนงานมากกว่า 400 คน ยังถึงกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับนโยบายดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยเธอมองว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยมีความไม่สมดุล จากดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมาก ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยมาก ควรจัดให้สมดุลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

“ปีที่ผ่านมา ประชาชนยากจน แต่คนรวยคือธนาคาร เป็นเรื่องที่ต้องเข้าไปสนใจ ลูกน้องเราซื้อรถซื้อบ้าน หลุดเป็นแถว ประชาชนคนที่ยากจนเดือดร้อนมาก แม้แต่คนที่มีเงินฝากก็ได้ดอกเบี้ยน้อยนิด คนไปกู้เงินก็ดอกเบี้ยสู้งสูง อย่างนี้จะมีความเป็นธรรมได้อย่างไร ประเทศไทยเศรษฐกิจจะตกต่ำ ประชาชนจะเกิดความเหลื่อมล้ำ”

การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ มาตรการทางการเงินที่เอื้อต่อการเสริมสภาพคล่องก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดภาระต้นทุนให้ผู้ประกอบการ และประชาชน

หลายฝ่ายคาดว่าการประชุม กนง.ครั้งต่อไป (10 เม.ย.) มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลง เพราะรอบที่แล้ว มีมติ 2 ต่อ 5 ที่เห็นว่าควรปรับลดดอกเบี้ย แต่ถ้าถามหัวอกคนเป็นหนี้ ช้าไปวันเดียวก็หนักหนาแล้ว ถ้าลดวันนี้ พรุ่งนี้ได้ก็จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันที