ไขมันที่พุง-รอบเอว อันตรายกว่าดัชนีมวลกายที่สูง

คนอ้วน
ภาพ : pixabay.com/th
คอลัมน์ Healthy Aging
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ดัชนีมวลกาย (body mass index หรือ BMI) เป็นวิธีการวัดความอ้วนที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในการทำการวิจัยและการตรวจสุขภาพ ส่วนหนึ่งเพราะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากการวัดเอวที่จะต้องวัดเอง ที่อาจผิดพลาดได้ ทั้งนี้เราสามารถคำนวณ BMI ได้โดยการนำเอาน้ำหนักตัวตั้งที่วัดเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงที่วัดเป็นเมตร

เช่น หากน้ำหนักเท่ากับ 70 กิโลกรัม และความสูงเท่ากับ 170 เซนติเมตร (1.7 เมตร) BMI จะเท่ากับ 70/ (1.7X1.7) = 24.2 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักปกติ (BMI = 18.5-25) หาก BMI เท่า 25-30 ถือว่าน้ำหนักสูงเกินเกณฑ์ (อ้วน) และหาก BMI อยู่ที่ระหว่าง 30-35 ก็จะเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนขั้นที่ 1 จากนั้นหาก BMI อยู่ระหว่าง 35-40 ก็จะเป็นโรคอ้วนขั้นที่ 2 และเกินกว่านั้นจะเป็นโรคอ้วนขั้นที่ 3

แต่ BMI นั้นถูกตำหนิโดยนักวิจัยว่าเป็นดัชนีที่ไม่ได้วัดระดับไขมันในร่างกายโดยตรง และในบางกรณีคนที่มีกล้ามเนื้อมาก ๆ ก็อาจมี BMI ที่สูงมากได้ ทำให้ตีความผิดพลาดว่าน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย คือการที่ไขมันสะสมในร่างกายมากเกิน เป็นเพราะมีงานวิจัยมากมายที่มีข้อสรุปว่า การมีระดับไขมันที่สูงนั้น เพิ่มความเสี่ยงจากการเสียชีวิตโดยรวม ที่สำคัญคือการมีระดับไขมันสูงนั้นนำมาซึ่งการอักเสบเรื้อรัง (chronic inflammation) ซึ่งทำให้ร่างกายแก่ตัวเร็ว (inflammaging) และมีส่วนทำให้เป็นโรคหลายชนิด เช่น ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และนำมาซึ่งความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดตีบตันที่หัวใจและที่สมอง

แต่งานวิจัยหลายชิ้นในช่วงประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระดับไขมันที่อันตรายที่สุดคือการสะสมไขมันที่พุง ดังนั้นการวัดขนาดของเอวหรือการวัดขนาดของเอวเปรียบเทียบกับความสูงหรือเปรียบเทียบกับรอบสะโพก จึงจะเป็นวิธีวัดความอ้วนที่ดีกว่า BMI อย่างมาก

งานวิจัยล่าสุดที่รวบรวมงานวิจัยในอดีตมาประเมินผล (meta study) เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ใน British Journal of Medicine เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2020 ชื่อว่า “Central fatness and risk of all causes mortality : systematic review and dose response meta-analysis of 72 prospective cohort studies” ซึ่งผมขอนำมาสรุปดังนี้

1.เป็นการรวบรวมงานวิจัยทั้งสิ้น72 ชิ้นที่วัดสัดส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขนาดของรอบเอว ความสูง รอบสะโพก และดัชนีไขมันในร่างกาย (adiposity index) ของกลุ่มคนหลายกลุ่ม และติดตามกลุ่มดังกล่าว (prospective cohort study) เป็นเวลา 3-24 ปี โดยมีจำนวนคน (ชาย-หญิง) ทั้งสิ้น 2,528,279 คน

2.ขนาดรอบเอวที่เพิ่มขึ้น 10 เซนติเมตร (4 นิ้ว) จะทำให้ความเสี่ยงของการเสียชีวิต (all causes mortality) เพิ่มขึ้น 8% สำหรับผู้ชาย และ 12% สำหรับผู้หญิง เฉลี่ยรวมเท่ากับ 11% ทั้งนี้งานวิจัยในลักษณะเดียวกับของ Mayo Clinic เมื่อปี 2014 (ข้อมูลจากผู้ใหญ่ 650,000 คน) พบว่าขนาดรอบเอวที่เพิ่มขึ้นเพียง 5 เซนติเมตร (2 นิ้ว) ทำให้ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 7% สำหรับผู้ชาย และ 9% สำหรับผู้หญิง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการอ้วนขึ้นที่รอบเอวของผู้หญิงนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าผู้ชาย

3.แต่คนที่อ้วนขึ้นโดยไขมันไปรวมตัวกันที่ต้นขาและสะโพกนั้น ปรากฏว่าความเสี่ยงของการเสียชีวิตกลับลดลง กล่าวคือ หากอ้วนขึ้นแล้วขนาดของต้นขาเพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร (2 นิ้ว) คนกลุ่มดังกล่าวจะมีความเสี่ยงจากการเสียชีวิตลดลง 18% หมายความว่าคนที่ร่างกายนำเอาไขมันไปรวมตัวกันที่ต้นขาหรือสะโพกนั้น นักวิจัยสรุปว่าร่างกายน่าจะมีกลไกในการป้องกันตัวจากความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวาน ดีกว่าร่างกายของคนที่นำเอาไขมันไปรวมตัวที่พุง

4.ทั้งนี้การวิจัยเพิ่มเติมยืนยันว่าการมีไขมันเกินกว่าเกณฑ์ที่พุงนั้น เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงจากการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคนผอมหรือคนอ้วน (Excess abdominal fat, independent of overall obesity, is associated with a higher risk of mortality.)

5.งานวิจัยพบว่าขนาดเอวที่ทำให้ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตต่ำสุด คือ 90 เซนติเมตร 35 นิ้ว สำหรับผู้ชาย และ 80 เซนติเมตร (31.5 นิ้ว) สำหรับผู้หญิง หากขนาดรอบเอวเพิ่มขึ้นจากระดับดังกล่าวความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก (mortality showed a sharp and linear increment in the risk)

คำแนะนำให้ควบคุมรอบเอวไม่ให้เกิน 31.5 ถึง 35 นิ้ว เพื่อทำให้อายุยืนมากขึ้นนั้น มีความใกล้เคียงกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือด (National Cholesterol Education Program Expert Panel) ที่กำหนดให้ผู้ชายควรควบคุมรอบเอวไม่ให้เกิน 102 เซนติเมตร (40 นิ้ว) และผู้หญิงควรควบคุมรอบเอวไม่เกิน 88 เซนติเมตร (34.6 นิ้ว)

และสำหรับการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานนั้น คำแนะนำคือให้คุมรอบเอวเอาไว้ที่ 94 เซนติเมตร (37 นิ้ว) สำหรับคนยุโรป และ 90 เซนติเมตร(35 นิ้ว) สำหรับคนเอเชียและคนแอฟริกัน สำหรับองค์การอนามัยโลกนั้นไม่ได้กำหนดขนาดของรอบเอว แต่แนะนำว่าการควบคุมไม่ให้ไขมันที่สะสมตรงกลางตัวสูงเกินเกณฑ์ โดยกำหนดสัดส่วนของรอบเอวหารด้วยรอบสะโพกที่ 0.90 สำหรับผู้ชาย และ 0.85 สำหรับผู้หญิง

สำหรับสัดส่วนของรอบเอวหารด้วยความสูงนั้น งานวิจัยต่าง ๆ มีข้อสรุปตรงกันว่า ไม่ควรเกิน 0.5 เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานครับ และสำหรับงานวิจัยชิ้นนี้พบว่าความเสี่ยงของการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหากสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 0.55