สแกน กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. พลังประชารัฐ ล็อกสเป็ก ส.ส. 10 ที่นั่ง

พลังประชารัฐ

การเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในปี’62 พรรคพลังประชารัฐกวาดเก้าอี้ ส.ส.กทม.มาได้ถึง 12 ที่นั่ง จากกระแส พล.อ.ประยุทธ์ และคะแนนติดตัวจากผู้สมัคร ส.ส.

การเลือกตั้งในปี’66 แม้วาทกรรม “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” เสื่อมมนต์ขลัง ยิ่งใน “ขั้วเดียวกัน” มีมากกว่าหนึ่งพรรค ฐานเสียงแตก-ตัดแต้ม สนามเลือกตั้ง กทม.จึงเป็นศึกใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐยังมีลุ้นปักธงสนามเลือกตั้ง กทม.-เกณฑ์ ส.ส.หน้าใหม่ เข้าสภาอีกครั้ง หากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตเลือกตั้ง 33 เขต กทม.เข้าทาง

ปักธง ส.ส.กทม. 10 ที่นั่ง

“สกลธี ภัททิยกุล” แม่ทัพ กทม.พลังประชารัฐ วิเคราะห์ว่า ถ้าการแบ่งเขตยึดรูปแบบที่ 6 รูปแบบที่ 7 รูปแบบที่ 8 ที่ กกต.กทม.นำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง พรรคก้าวไกลจะได้เปรียบที่สุด เพราะมีคะแนนแน่นอนทุกเขตอยู่แล้ว ลงเขตไหนก็ตามจะมีคะแนน 1-1.5 หมื่นคะแนน เพื่อไทยเหนื่อยแน่นอน เพราะ ส.ส.เก่าจะไม่มีความหมายเลย เขตบางเขตซอยครึ่ง ๆ แล้วไปรวมกับเขตใหม่ที่ไม่คุ้น แต่เอื้อกับพรรคพลังประชารัฐ เพราะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.หน้าใหม่เยอะ ทำให้ไม่เสียเปรียบกับการแข่งขันกับอดีต ส.ส. ที่แข็งเพียง “ครึ่งเขต”

“ผมไม่กังวลเลยว่า อดีต ส.ส.จะดูน่าเกรงขามในสนาม กทม. เพราะตกให้เห็นเยอะแล้ว สนามกรุงเทพฯ พร้อมที่จะพลิกได้ทุกเมื่อ ยิ่งครั้งนี้แข่งกันเยอะ และถ้าเกิดการซอยเขต กกต.แบบ 6-8 โอกาสหน้าใหม่เกิดสูงมาก เพราะเขตหลัก ๆ ที่ ส.ส.เก่าเป็น ส.ส.โดนแบ่งซอยหมด เท่ากับว่าสตาร์ตศูนย์เหมือนกัน วิ่งที่จุดพร้อมกัน อาจจะเป็นพรรคใหม่ได้เปรียบด้วยซ้ำ”

ขณะที่ว่าที่ผู้สมัคร กทม.ตัวเต็ง-ตัวแข็งของพรรคพลังประชารัฐที่หมายมั่นปักหมุด 7-8 ที่นั่ง ดังนี้ 1.ร.อ.รชฎ พิสิษฐบรรณกร ดินแดง พญาไท 2.นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ ลาดพร้าว 3.ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น บางเขน

4.นางนฤมล รัตนาภิบาล บางกะปิ 5.นายรังสรรค์ กียปัจจ์ หลักสี่ ดอนเมือง 6.นายศิริพงษ์ รัสมี หนองจอก 7.นางนาถยา แดงบุหงา สะพานสูง ประเวศ 8.นายตรีสิทธิ์ ศิริวรรณ พระโขนง บางนา 9.นายสุวัฒน์ ม่วงศิริ จอมทอง ธนบุรี และ 10.พ.ต.ท.วันชัย ฟักเกลี้ยง บางกอกน้อย ตลิ่งชัน

รื้อคลองสามวา-คันนายาว

สำหรับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพิ่มเติม แบบที่ 6 กับแบบที่ 7 และแบบที่ 8 ที่มีการแบ่งเขต “แตกต่างกัน” 10 เขต ตามที่ “สกลธี” ยกตัวอย่าง เนื่องจาก กกต.กทม.มีการ “ซอยย่อย” แขวง-เขต – จำนวนประชากร ที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันทางการเมือง อาทิ

รูปแบบที่ 6 เขตที่ 15 เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงบางชันและแขวงทรายกองดิน) จำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้ง 103,447 คน เขตคันนายาว (เฉพาะแขวงคันนายาว) จำนวน 47,217 คน รวม 150,664 คน ผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎร ต่อ ส.ส.หนึ่งคน -15,849 คน คิดเป็น -9.52%

รูปแบบที่ 7 เขตที่ 15 เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงบางชัน) จำนวน 90,140 คน เขตคันนายาว (เฉพาะแขวงคันนายาว) จำนวน 47,217 คน รวม 137,357 คน ผลต่าง -29,156 คน คิดเป็น -17.51%

รูปแบบที่ 8 เขตที่ 15 เขตคันนายาว จำนวน 95,523 คน เขตบึงกุ่ม จำนวน 67,484 คน รวม 163,007 คน ผลต่าง -3,506 คน คิดเป็น -2.11% โดยตัดคลองสามวาออกไป

ย่อยเขตธนบุรี-คลองสาน

แบบ 6 เขตที่ 24 เขตธนบุรี จำนวน 99,591 คน เขตคลองสาน จำนวน 66,347 คน รวม 165,938 คน ผลต่าง -575 คน คิดเป็น -0.35%

แบบ 7 เขตที่ 24 เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงบางยี่เรือ) จำนวน 80,693 คน เขตคลองสาน จำนวน 66,347 คน เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางค้อ) 33,756 คน รวม 180,796 คน ผลต่าง +14,283 คน คิดเป็น +8.58%

แบบ 8 เขตที่ 24 เขตธนบุรี (เฉพาะแขวงตลาดพลู แขวงบุคคโล แขวงดาวคะนองและแขวงสำเหร่) จำนวน 61,665 คน เขตคลองสาน จำนวน 66,347 คน เขตราษฎร์บูรณะ 46,933 คน รวม 174,945 คน ผลต่าง +8,432 คน คิดเป็น +5.06%

แบบ 6 เขต 27 เขตบางขุนเทียน (ยกเว้นแขวงท่าข้าม) จำนวน 122,925 คน เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนเหนือและแขวงบางบอนใต้) จำนวน 46,784 คน รวม 169,709 คน ผลต่าง +3,196 คน คิดเป็น +1.92%

แบบ 7 เขต 27 เขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงแสมดำ) จำนวน 122,925 คน เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน) จำนวน 34,591 คน รวม 157,516 คน ผลต่าง +8,997 คน คิดเป็น -5.40%

แบบ 8 เขต 27 เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) จำนวน 47,748 คน เขตบางขุนเทียน (ยกเว้นแขวงท่าข้าม) จำนวน 122,925 คน รวม 170,673 คน ผลต่าง +4,160 คน คิดเป็น +2.50%

ซอยทวีวัฒนาข้ามเขต

แบบ 6 เขต 31 เขตตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงบางเชือกหนัง) จำนวน 89,781 คน เขตทวีวัฒนา จำนวน 79,228 คน รวม 169,009 คน ผลต่าง +2,496 คน คิดเป็น +1.50%

แบบ 7 เขต 31 เขตทวีวัฒนา จำนวน 79,228 คน เขตหนองแขม จำนวน 74,985 คน รวม 154,213 คน ผลต่าง +12,300 คน คิดเป็น +7.39%

แบบ 8 เขต 31 เขตทวีวัฒนา (ยกเว้นแขวงทวีวัฒนา) จำนวน 55,751 คน เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบางขุนนนท์) จำนวน 10,498 คน เขตตลิ่งชัน 101,802 คน รวม 168,051 คน ผลต่าง +1,538 คน คิดเป็น +0.92%

แบบ 6 เขต 32 เขตภาษีเจริญ (ยกเว้นแขวงบางหว้าและแขวงปากคลองภาษีเจริญ) จำนวน 70,003 คน เขตบางกอกใหญ่ จำนวน 61,579 คน เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อ) จำนวน 27,380 คน เขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงบางเชือกหนัง) จำนวน 12,021 คน รวม 170,983 คน ผลต่าง +4,470 คน คิดเป็น +2.68%

แบบ 7 เขต 32 เขตบางกอกน้อย จำนวน 99,729 คน เขตบางกอกใหญ่ จำนวน 61,579 คน เขตภาษีเจริญ (เฉพาะแขวงคูหาสวรรค์) จำนวน 5,845 คน เพิ่มเขตธนบุรี (เฉพาะแขวงบางยี่เรือ) จำนวน 18,898 คน รวม 186,051 คน ผลต่าง +19,538 คน คิดเป็น +11.73%

แบบ 8 เขต 32 เขตภาษีเจริญ (ยกเว้นแขวงคลองขวางและแขวงบางหว้า) จำนวน 73,814 คน เขตบางกอกใหญ่ จำนวน 61,579 คน เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงตลาดพลู แขวงบุคคโล แขวงดาวคะนองและแขวงสำเหร่ จำนวน 37,926 คน รวม 173,319 คน ผลต่าง +6,806 คน คิดเป็น +4.09%

โดยทั้ง 3 รูปแบบ มีจำนวนราษฎร 5,494,932 คน จำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน ใน กทม. เท่ากับ 166,513 คน