“เพื่อนเฉลิมชัย” ดีลร่วมรัฐบาล ทาง 2 แพร่งหัวหน้าประชาธิปัตย์คนใหม่

ประชาธิปัตย์

ประชาธิปัตย์ในวัน “ไร้หัว” ไม่มีหางเสือ แม้ไม่ได้รับเทียบเชิญหาทางออก 8 พรรค แต่เจรจาใน “ทางลับ-ทางไกล” เพื่อเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ไม่ให้ “ตกขบวน”

หาก 25 สส. “พรรคสีฟ้า” ยังคงเป็น “เสียงชี้ขาด” ว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “คนใหม่” จะเป็นใคร และคณะกรรมการบริหารพรรค “ชุดใหม่” จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เกมชี้ชะตา พรรคสีฟ้า

6 สิงหาคม 2566 วันที่ได้หัวหน้าพรรคคนที่ 9 และเลขาธิการพรรคคนที่ 17 จะเป็นวันกำหนดอนาคต “พรรคเก่าแก่” ว่าจะไปในทิศทางใด ระหว่างเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” หรือ “พรรคร่วมรัฐบาล”

21 ใน 25 สส.ประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะมีที่ปรึกษา “คนเดียวกัน”

“นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา-รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ไม่ได้มี สส.ใน “มุ้งปักษ์ใต้” 17 ชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สส.ที่ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคเลี้ยงดูปูเสื่อ

ที่สำคัญที่เห็น “สส.ตัวเป็น ๆ” ไม่ได้มีเพียง สส.ในพรรค-ครึ่งพรรค แต่ยังมี สส.ที่ “ย้ายทางใจ” มาอยู่กับประชาธิปัตย์ สะท้อนให้เห็นว่า “ไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก” และสร้างการต่อรองให้กับกลุ่มเสี่ยต่อ-นายกชายในการการันตีเป็นรัฐบาลแน่นอน

“วันนี้จะมีอีกหลายคนย้ายมาประชาธิปัตย์ ไม่ใช่คนที่ย้ายออกจากประชาธิปัตย์แล้วไปอยู่ที่อื่น แต่คนที่เป็น สส.พรรคอื่นจะย้ายมาประชาธิปัตย์ มากกว่า 1 พรรค มาเป็นทีมงาน” แหล่งข่าวคนใกล้ชิดนายเฉลิมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม คงไม่ง่ายที่จะผ่านด่าน 3 สส.-อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์” กับเครือข่ายของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคที่แบ่งงานกันทำ-แบ่งบทกันเล่น “อยู่ในเกม” เลือกหัวหน้าพรรค

ไล่ตั้งแต่กรรมการการเลือกตั้งของพรรค ที่มี นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ “รมช.คมนาคมเงา” เป็นประธาน และ “องอาจ คล้ามไพบูลย์” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นคณะเตรียมการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ

ยังมีอดีต สส.-อดีตรัฐมนตรีที่มีบทบาทสมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 7 และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 คอย “ทำเกม” โดยมี “สาธิต ปิตุเตชะ” อดีต สส.-อดีตรัฐมนตรี รักษาการรองหัวหน้าพรรคภาคกลาง เป็น “เพลย์เมกเกอร์”

ขั้วเก่า-ใหม่ ประลองกำลัง

ย้อนไทม์ไลน์ชิงไหว-ชิงพริบการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ระหว่าง “กลุ่มเพื่อนอภิสิทธิ์” กับ “กลุ่มเพื่อนเสี่ยต่อ” นับตั้งแต่ระฆังประชุมใหญ่วิสามัญ “ครั้งแรก” จนทำให้การเจรจาร่วมรัฐบาลยัง “ไม่สะเด็ดน้ำ”

16 พฤษภาคม 2566 หลังการเลือกตั้ง-นายจุรินทร์ประกาศลาออกเพียง 2 วัน นายสาธิตให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีถึงคนที่จะมากอบกู้พรรคคนใหม่ว่า “คุณอภิสิทธิ์มีความเหมาะสมที่จะเข้ามากอบกู้พรรคเวลานี้”

18 พฤษภาคม 2566 “ชัยชนะ เดชเดโช” ส.ส.นครศรีธรรมราช โพสต์รูปภาพถ่ายร่วมกันกับเสี่ยต่อ-นายกชาย พร้อมข้อความว่า “3 พี่น้อง สักครู่เดี๋ยวมีคำตอบครับ อย่าคิดมากนะครับ 555”

19 พฤษภาคม 2566 นายชัยชนะออกมาให้สัมภาษณ์แก้ข่าว “ขน 16 สส.ประชาธิปัตย์” เข้าร่วมรัฐบาลว่า “ขอยืนยันว่ากระแสข่าวนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”

24 พฤษภาคม 2566 กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการประชุม “นัดแรก” หลังจากแพ้การเลือกตั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการเลือกหัวหน้า-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ “ล็อกโหวต” น้ำหนักในการชี้ขาดสัดส่วน 70% ไว้ที่ “25 สส.ใหม่”

21 มิถุนายน 2566 กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการประชุม “นัดที่สอง” มีมติเห็นชอบกำหนดวัน ว. เวลา น. ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่และกรรมการบริหารพรรค “ชุดถาวร”

แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 โดยมี “นายองอาจ คล้ามไพบูลย์” เป็นประธาน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง กก.บห.ชุดใหม่ มี “สามารถ ราชพลสิทธิ์” เป็นประธาน

วันเดียวกัน “ศิริโชค โสภา” อดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ อดีตเลขานุการส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เจ้าของฉายา “วอลเปเปอร์” โพสต์เฟซบุ๊กรูปพร้อมข้อความ ที่มีนายอภิสิทธิ์และนายชวนเป็นประธาน “ภาพหมู่” กลุ่มเพื่อนมาร์ค-ติ่งอภิสิทธิ์ ว่า

“วันนี้มากินงานเลี้ยงวันเกิด คุณติ้งต่าง พร้อมอดีตนายกรัฐมนตรี ของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 2 ท่านครับ ก่อนกลับไปทำงานต่อ” จนถูก “ตีความ” ว่า “อภิสิทธิ์คัมแบ็ก”

2 กรกฎาคม 2566 “เชาว์ มีขวด” อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ชงยกเว้นข้อบังคับข้อ 87 (1) (2) เกณฑ์คำนวณคะแนนเสียงสัดส่วน สส.ปัจจุบัน 70% เป็น “หนึ่งเสียง-หนึ่งโหวตเท่ากัน”

วันเดียวกัน ประชาธิปัตย์เรียกประชุม สส. 25 คน เพื่อหาข้อยุติเบื้องต้นก่อนเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจากนั้นได้ไปพบกับนายเฉลิมชัยที่บ้านพักเพื่อรับฟังคำปรึกษา

9 กรกฎาคม 2566 การประชุมใหญ่วิสามัญพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค “ครั้งแรก” นายสาธิตเสนอใช้ข้อบังคับพรรค ข้อที่ 137 เพื่อยกเว้นข้อบังคับกรณี สส.ปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนักสัดส่วน 70% โดยเปลี่ยนมาเป็น 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน

ทันใดนั้นนายองอาจเสนอให้งดไว้ข้อบังคับข้อที่ 37 วรรคสอง ให้เลื่อนการประชุมออกไป ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 151 เสียง ซึ่งไม่ถึง 3 ใน 5 ขององค์ประชุมทั้งหมด 289 เสียง หรือได้น้อยกว่า 171 เสียง ทำให้ญัตติของนายองอาจตกไป

ขณะที่ญัตติของนายสาธิตก่อนหน้านี้ ที่ประชุมมติเห็นด้วย 147 เสียง ไม่ถึง 3 ใน 5 ขององค์ประชุมทั้งหมด 298 เสียง หรือได้น้อยกว่า 179 เสียง ทำให้ญัตติของนายสาธิตตกไป

ภายหลังพักการประชุมกว่า 1 ชั่วโมง กกต.พรรคสั่งเดินหน้าเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค แต่เมื่อนับองค์ประชุมรอบแรก 221 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่ต้องมี 250 ขึ้นไป

ตัดสินร่วมรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน

หลังจากสั่งพักการประชุม-สั่งนับองค์ประชุมรอบที่สอง น้อยลงยิ่งกว่าเดิม หรือ 201 คน หลังจากนายสาธิตหอบองค์ประชุมกลับบ้านไปด้วย ส่งผลให้ “องค์ประชุมล่ม” จนไม่สามารถประชุมต่อไปได้-นัดประชุมใหม่ภายใน 30 วัน

12 กรกฎาคม 2566 กรรมการบริหารชุดรักษาการ เคาะวันประชุมเลือกหัวหน้าพรรค “ครั้งที่สอง” วันที่ 23 กรกฎาคม 2566 และกำหนดองค์ประชุมใหญ่เพิ่มเติม 5 ส่วน

ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนภาคละ 25 คน “แก้เกมองค์ประชุมล่ม”

21 กรกฎาคม 2566 กรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมีมติ “เลื่อน” วันเลือกหัวหน้าพรรคเป็นวันที่ 6 สิงหาคม 2566 จากเดิมวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 และ “ปัดตก” การ “เพิ่มองค์ประชุม”

ชอตต่อไป “กลุ่มเพื่อนมาร์ค” จะสามารถ “ทำลายเกม” บ้านใหญ่ ที่มี “มุ้งเสี่ยต่อ-นายกชาย” เป็น “คนคุมทัพ” ได้หรือไม่

6 สิงหาคมนี้รู้ว่าใครเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าเป็นขั้ว “เฉลิมชัย” แนวโน้มร่วมรัฐบาลเพื่อไทย แต่ถ้าเป็น “อภิสิทธิ์” ก็จะเป็นฝ่ายค้าน ผนึกก้าวไกล