เปิดขั้นตอนขอพระราชทานอภัยโทษ ทักษิณ ใครมีสิทธิขอ ใครมีสิทธิได้

กรมราชทัณฑ์

ดีเดย์การกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ครั้งแรกในรอบ 17 ปี หลังจากรัฐบาลไทยรักไทยถูก บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกเฝ้าจับตาว่าจะเลื่อนอีกหรือไม่เลื่อน 

คำปรามาสว่า “ทักษิณ” ไม่มีวันกลับมารับโทษแม้แต่เพียงวันเดียว ยิ่งใกล้ถึงวันกลับบ้าน 22 สิงหาคม 2566 ยิ่งถูกพูดถึงดังก้องทะลุแก้วหูในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะตัว 

การพระราชทานอภัยโทษ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป และประเภทที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 

เฉพาะประเภทที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์

ระยะเวลาการยื่นฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 

1.ผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป ยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด

2.ผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

ขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย 

ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือกระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์จะส่งไปสอบสวนเรื่องราวยังเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ

จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นไร ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบและดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ทราบ 

กรณีไม่มีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำขอพระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้

หากพระราชทานอภัยโทษให้อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด 

โดยให้ปล่อยตัวไปหรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิตหรือลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 

ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกา โดยอ้างพระราชกระแสว่าความทราบฝ่าละลองธุลีพระบาทแล้วมีกระแสให้ยกฎีกา หนังสือสำคัญดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ่งพระราชกระแส

ทั้งนี้ เรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต ถ้ามีพระราชกระแสให้ยกฎีกาแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน คือ จะต้องรอให้พ้นสองปีไปก่อนจึงจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปใหม่ได้ 

สำหรับผู้มีสิทธิยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ได้แก่

-ผู้ต้องโทษที่คดีถึงที่สุด

-ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บิดามารดา บุตร คู่สมรส

-สถานทูต (กรณีเป็นนักโทษชาวต่างชาติ)

ทั้งนี้ ทนายความ ไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง