เศรษฐา ยืนยันกับ นายกฯ ญี่ปุ่น จะเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายรถสันดาป

เศรษฐา ทวีสิน

เศรษฐา หารือ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน และยืนยันความพร้อมในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษในเดือนหน้า พร้อมดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปญี่ปุ่น

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง ณ โรงแรมนิกโก ซานฟรานซิสโก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นเป็นมิตรที่ใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน มีความผูกพันในทุกระดับ พร้อมย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภูมิภาค ทั้งนี้ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกับญี่ปุ่น และนายกฯ พร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN-Japan Commemorative Summit) ในเดือนหน้า และหวังว่าจะได้เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในโอกาสแรก

ด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกับนายกฯ ในวันนี้ แสดงความยินดีกับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สานต่อความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ซึ่งโอกาสนี้ นายกฯญี่ปุ่นยังได้กล่าวขอให้ไทยช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย อาทิ การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการติดต่อหรือประกอบธุรกิจแก่นักธุรกิจ

โอกาสนี้ผู้นำทั้งสองได้หารือในประเด็นที่เป็นประโยชน์และสนใจร่วมกัน นายกฯ ยืนยันว่าไทยพร้อมดูแลภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปญี่ปุ่นในไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ควบคู่กับการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม EV เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางช่วงสุดท้ายของการผลิตยานยนต์สันดาป ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทาง โดยหารือกับภาคเอกชนญี่ปุ่นโดยตรง

พร้อมกันนี้ นายกฯ ญี่ปุ่นซึ่งได้เชิญนายกฯ ไทย เข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคก้าวเข้าสู่สังคมปลอดคาร์บอน ซึ่งไทยพร้อมร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม Asia Zero Emission Community (AZEC) ของญี่ปุ่นที่สอดรับกับแนวทางของไทย

ทั้งนี้ ไทยมุ่งเน้นเปิดโอกาสเศรษฐกิจใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล นวัตกรรม เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเปิดกว้างในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง โดยไทยมีโครงการ Landbridge เพื่อเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ จึงอยากเชิญญี่ปุ่นมาร่วมมือในโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ญี่ปุ่น และภูมิภาค โดยนายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงด้านความมั่นคง ซึ่งยินดีที่ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศอย่างใกล้ชิด ภายใต้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ