เศรษฐา หารือนายกฯ เยอรมัน ยกระดับความสัมพันธ์ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์

NAYOK

นายกฯ หารือ นายกฯ เยอรมัน เสนอยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ด้านการค้า การลงทุน เปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมรถยนต์ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 13 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงเบอร์ลิน ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายโอลาฟ ชอล์ซ (H.E. Mr. Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศเต็มรูปแบบ จากนั้น ทั้งสองฝ่ายร่วมการหารือ four eyes

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทยและเยอรมนีก้าวเข้าสู่บทใหม่ ในฐานะที่ไทยเป็นหุ้นส่วนที่เป็นประชาธิปไตย มั่นคง คาดเดาได้ และเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยได้กล่าวขอบคุณเยอรมนีที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งการมาเยือนครั้งนี้เพื่อทำให้ความร่วมมือที่ได้หารือกับประธานาธิบดีเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเยือนไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี เสนอให้ยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งจะมีการหารือรายละเอียดความร่วมมือต่อไปภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-เยอรมนี โดยไทยหวังที่จะเพิ่มพูนและกระชับความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสีเขียว อุตสาหกรรมยานยนต์ ความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกฯ มีโอกาสได้พบกับบริษัทสำคัญ ๆ ในเยอรมนี ซึ่งไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การลงทุนในประเทศไทยดำเนินไปอย่างราบรื่น พร้อมกล่าวย้ำว่า ไทยกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว (back for business) ด้วยรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย มุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และคุณค่าของประชาธิปไตย

โดยยินดีเปิดรับภาคธุรกิจ SMEs ของเยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ โดยโอกาสนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีในการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งเสริมการค้าและการลงทุนทวิภาคีต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนียินดี

รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค และการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต จึงอยากเชิญชวนเยอรมนีเข้ามาร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ซึ่งรวมถึงทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และโครงการ Landbridge รวมทั้งยินดีต้อนรับการลงทุนของเยอรมนีเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งในภูมิภาคภายในทศวรรษนี้

โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่สำหรับระบบนิเวศยานยนต์ที่แข็งแกร่งของไทยยังจะเปิดโอกาสให้บริษัทยานยนต์ของเยอรมัน สำหรับทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยนายกฯ หวังว่าจะมีบริษัทยานยนต์อื่น ๆ ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทย โดยบริษัท Mercedes-Benz และ BMW ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยแล้ว

นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งเน้นสู่การเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยมีสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านการผลิต EV ในไทย โดยเห็นว่าการเปลี่ยนไปใช้ EV เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2568 โดยนายกฯ ยินดีที่เยอรมนีสนใจในการเปลี่ยนผ่านด้านไฟฟ้าของไทย และหวังที่จะมีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา

ตลอดจนความร่วมมือทางเทคนิคให้มากขึ้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านการเกษตรกรรมแบบยั่งยืน โดยเฉพาะการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการเกษตร และการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรกรรมอีกด้วย

นายกรัฐมนตรี หวังว่า ภาคเอกชนของเยอรมนีในประเทศไทยอาจพิจารณาเสนอโครงการฝึกงาน/ฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่นักเรียนอาชีวศึกษาไทย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้กับบริษัทเยอรมันในประเทศไทย โดยไทยพร้อมที่จะร่วมมือในด้านแรงงานหากเยอรมนีต้องการ

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดจากสหภาพยุโรปและใกล้ระดับก่อนโควิด นายกฯ เห็นว่าไทยและเยอรมนีควรร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกันให้มากขึ้น

ซึ่งไทยได้เคยเสนอเรื่องการยกเว้นวีซ่าเชงเกนสำหรับหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาของไทยกับสหภาพยุโรปแล้ว จึงขอรับการสนับสนุนจากเยอรมนีด้วย ทั้งนี้ หนังสือเดินทางไทยมีความปลอดภัยสูงเนื่องจากผลิตโดยบริษัทฝรั่งเศส เยอรมนีและกลุ่มประเทศเชงเกนจะได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและผู้มาเยือนธุรกิจระยะสั้นจากประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายโอลาฟ ชอล์ซ (H.E. Mr. Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าว

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า เยอรมนีให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เป็นที่น่ายินดี ที่การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและเยอรมนีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 ทางเยอรมนียินดีจะพิจารณาสนับสนุนไทยในการเข้าร่วม OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุน และช่วยพัฒนาศักยภาพร่วมกัน

ด้าน นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวขอบคุณนายกฯ เยอรมัน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น การเยือนครั้งนี้ต่อยอดการเยือนไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี เมื่อวันที่ 24-26 มกราคม 2567 ซึ่งระหว่างการเยือน ประธานาธิบดีคงได้เห็นถึงพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและการธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของไทย ยืนยันว่า ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมตามกระบวนการประชาธิปไตยที่ยึดกฎเกณฑ์ และสามารถคาดเดาได้

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เยอรมนีและพันธมิตรของไทยในโลก ซึ่งด้วยพัฒนาการนี้ ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยจะมีการหารือในรายละเอียดความร่วมมือต่อไปภายใต้กลไกการหารือทวิภาคีที่มีอยู่

โดยไทยเชื่อว่า ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งสองประเทศจะทวีความร่วมมือทวิภาคีที่ครอบคลุม ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคกับอาเซียนและในอินโด-แปซิฟิก และส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ในการหารือฯ ผู้นำทั้งสองยังได้ยืนยันความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด การผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ลม น้ำ และไฮโดรเจนสีเขียว การส่งเสริมความร่วมมือด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย การถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดย นายกฯ กล่าวให้ความเชื่อมั่นในการดูแลธุรกิจการลงทุนของเยอรมนีในภาคส่วนยานยนต์ดั้งเดิมที่มีเครื่องยนต์สันดาปและไฮบริดด้วย

โดยนายกฯ ได้เชิญให้เยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยเฉพาะโครงการ Landbridge การส่งเสริมการค้าการลงทุนผ่านการผลักดันความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป รวมทั้งการสนับสนุนไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development : OECD)

และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนและการท่องเที่ยว ผ่านการผลักดันให้มีการเจรจาเพื่อยกเว้นตรวจลงตราเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้หารือในประเด็นอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน อาทิ ความร่วมมือด้านแรงงาน อาชีวศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งความร่วมมือด้านการเกษตรยั่งยืน ตลอดจนประเด็นการเมืองความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยระหว่างการเยือนในครั้งนี้ นายกฯ ได้มีโอกาสพบหารือกับภาคเอกชนเยอรมนีที่สำคัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับภาคเอกชนเหล่านี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในโอกาสอันใกล้

ในตอนท้าย นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณ และหวังว่าจะได้ต้อนรับนายกฯ เยอรมันในการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป เพื่อจะได้เห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการหารือระหว่างกันในวันนี้