เปิด 26 ข้อหารัฐบาลเศรษฐา 250 สว.ซักฟอกทิ้งทวน อยู่ยาว 5 ปี  

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

250 สว.เตรียมปฏิบัติภารกิจอภิปรายรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ถล่มรัฐบาลใน 7 ปัญหา 26 ประเด็น

และอาจกล่าวได้ว่าแทบจะเป็นภารกิจ “ครั้งสุดท้าย” ที่มีความหมายในการถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

เป็นไปตามมาตรา 153 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ

สว.ชุดปัจจุบันที่มาจากการอนุมัติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่มาแล้ว 5 ปี จะหมดอำนาจในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แต่ไม่เคยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 อภิปรายรัฐบาลแม้แต่ครั้งเดียว

กระทั่งมาถึงรัฐบาลเพื่อไทย มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี สว.จึงเปิดปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ สว. 250 คนอาจไม่ “ดุเดือด” เพราะไม่มีการลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐบาล

“เสรี สุวรรณภานนท์” สว.เปิดเผยว่า มีผู้อภิปราย 27 คน ส่วนประเด็นที่จะอภิปราย และคิดว่าจะไม่ดุเดือด

“คิดว่าไม่ดุเดือด เพราะเป็นการพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ได้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่เป็นเรื่องการแก้ปัญหาการบริหารประเทศ”

เปิดญัตติที่ สว.ตั้งแท่นอภิปรายรัฐบาลเพื่อทิ้งทวน มีดังนี้

1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน 6 ประเด็น

  • การสร้างกระบวนการและแนวทางในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนที่ยั่งยืน และการทำให้ประชาชนมีรายได้ และมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และเป็นการแก้ปัญหา ความยากจนรัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมอย่างไร
  • สภาพปัญหาการดำเนินนโยบายการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนในชาติ จะดำเนินการได้จริงหรือไม่
  • การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามแนวทางที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาจากต้นตอในระดับครัวเรือน
  • การแก้ไขปัญหาการฟื้นชีวิตอุตสาหกรรมการประมงที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต การทำประมงอย่างแท้จริง
  • การสร้างรายได้ของประเทศจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
  • รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า การประกาศใช้กฎหมายผังเมืองใหม่ที่ล่าช้าทำให้ ประชาชนขาดโอกาส และขาดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

สว.ที่ลงชื่ออภิปราย อาทิ นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย นายพลเดช ปิ่นประทีป พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร พล.อ.สราวุฒิ ชลออยู่ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน น.ส.ภัทราภร วรามิตร นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ และนายสมชาย แสวงการ

  1. 2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย 7 ประเด็น
  • ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน
  • การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนที่ไม่เท่าเทียม การทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด และการพนัน
  • การแก้ปัญหาการปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ
  • การเปลี่ยน ส.ป.ก. ๔-๐๑ เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมอาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน จะมีมาตรการการป้องกันได้อย่างไร
  • การปราบปรามผู้มีอิทธิพลและยาเสพติดยังไม่เห็นผลชัดเจนและเป็นรูปธรรมจะมีแนวทางอย่างไร
  • มาตรการการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกส่วยหรือการหาผลประโยชน์ในทุกกรณี จะแก้ไขปัญหาให้จริงจังและเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
  • การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (Cyber Crime) ที่มีประสิทธิภาพจะทำได้อย่างไร

สว.ที่ลงชื่ออภิปราย อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายถวิล เปลี่ยนศรี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายอุปกิต ปาจรียางกูร นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล นายประพันธุ์ คูณมี และว่าที่ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพาณิชภักดี

  1. ปัญหาด้านพลังงาน 3 ประเด็น
  • การไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศ และการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
  • กลุ่มทุนพลังงานมีอิทธิพลกับการเมือง ทำให้กลุ่มทุนกำหนดราคาพลังงานในอัตราที่สูงเกินความจำเป็น จนทำให้ประชาชนแบกภาระราคาเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงเกินจริง จะแก้ไขอย่างไร
  • ความไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในทะเล (OCA) กับประเทศรอบบ้าน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งพลังงานสำคัญได้

สว.ที่ลงชื่ออภิปราย อาทิ พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน

  1. 4. ปัญหาด้านการศึกษา และสังคม 6 ประเด็น
  • การไม่เร่งปฏิรูปการศึกษา โดยยังเพิกเฉยต่อการผลักดันการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้เป็นแม่บทในการพัฒนาการศึกษาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลก
  • การไม่เร่งผลักดัน และปล่อยปละละเลยในการแก้ไขปัญหาการปรับโครงสร้างของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ หลังจากพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ๒๕๖๖ มีผลบังคับใช้มาถึงวันนี้เกือบ ๑ ปี แต่ไม่สามารถปรับโครงสร้างได้แล้วเสร็จ ทำให้เกิดผลเสียต่อการจัดการศึกษาอย่างร้ายแรง
  • การแก้ปัญหาหนี้สินครู รัฐบาลยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมทำให้ปัญหาหนี้สินครูยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสอนของครู และส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา
  • การจัดหลักสูตรการศึกษาในสถานศึกษาและการให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  • ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคมไทย
  • ปัญหาการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข

สว.ที่ลงชื่ออภิปราย อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นายออน กาจกระโทก นายเฉลา พวงมาลัย นางนิสดารก์ เวชยานนท์ พล.อ.อ.เฉลิมชัย เครืองาม นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายจัตุรงค์ เสริมสุข

  1. ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว 4 ประเด็น
  • ที่เรียกผู้กระทำความผิดว่า “จีนเทา” บ่อยครั้งตอกย้ำจนกระทบกับความสัมพันธ์กับความรู้สึกของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประชาชนชาวจีนจะแก้ไขอย่างไร
  • การวางตัวเป็นกลางและการเลือกข้างของรัฐบาลกับความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ จะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสมแก่สถานการณ์
  • มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามา ท่องเที่ยวในประเทศไทย นักท่องเที่ยว และการสร้างความเชื่อมั่นและหลักประกันในการคุ้มครองความปลอดภัย
  • การกำหนดพื้นที่และการให้เจ้าหน้าที่ราชการที่เกี่ยวข้องในการให้ความสะดวก แก่กิจการท่องเที่ยว หรือให้ความสะดวกแก่การทำมาค้าขายของประชาชน รวมทั้งไม่ควรอ้างการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อสร้างเงื่อนไขสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

บุคคลที่อภิปรายมี นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์

  1. ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการทำประชามติ ต้องมีความชัดเจน เพื่ออธิบายให้ได้ว่ามีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร โดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศได้อย่างไร

บุคคลที่อภิปรายคือ ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม

  1. 7. ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามรายงานที่วุฒิสภาได้ติดตามเสนอแนะเร่งรัดต่อรัฐบาลไปแล้วนั้น รัฐบาลมีนโยบายและแนวทางดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างไร

บุคคลที่อภิปรายคือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

ในท้ายญัตติของ สว.ที่ยื่นอภิปรายยังระบุว่า “ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วน ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการและแก้ไขปัญหาโดยทันที อันส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งไม่บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการ ให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีรายได้เพิ่มขึ้น”

จับตาการซักฟอกรัฐบาลโดย สว. 25 มีนาคมนี้