จุรินทร์ ไม่ลาออก คดีปริญญ์ กรรมการไม่ต้องรับผิดชอบจนเลยขอบเขต

จุรินทร์ ยืนยัน ไม่ลาออก โต้ วิทยา ยกกรณีทุจริตไทยเข้มแข็ง มาตรฐานเดียวกัน เมิน กก.บห.ไขก๊อก ลาออกก็หาคนใหม่

วันที่ 23 เมษายน 2565 ที่พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2565 ทางอิเลคทรอนิกส์ผ่านระบบ ZOOM ตามที่คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) มีมติให้ประชุมผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 โดยมีองค์ประชุม 250 คน ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง ประกอบด้วย 1.กก.บห.พรรค 2.สาขาพรรค และ 3.ตำแทนพรรคประจำจังหวัด

หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานการประชุมได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม โดยนายจุรินทร์แจ้งต่อที่ประชุมว่า การประชุมใหญ่สามัญครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย พรรคการเมือง มาตรา 43 และ มาตรา 61

ต่อจากนั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคเข้าสู่ระเบียบวาระที่ 2 เพื่อให้ที่ประชุมรับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญพรรค มีทั้งหมด 5 ระเบียบวาระ ได้แก่ วาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

วาระที่ 2 รับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 1 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564

วาระที่ 3 การดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 43 และมาตรา 61 ประกอบด้วย รายงานการดำเนินกิจการของพรรคในรอบปีที่ผ่านมา และรับรองงบการเงิน ประจำปี 2564

วาระที่ 4 แผนยุทธศาสตร์ของพรรค แผนหรือโครงการที่จะดำเนินการกิจกรรมสำหรับปีต่อไป โดยเฉพาะการหารายได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในทางการเมืองและการพัฒนาบุคลากรทางการเมือง (ตามข้อบังคับพรรค ข้อ 79)

วาระที่ 5 เรื่องอื่น ๆ (ถ้ามี)

นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากการใช้เวลาการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง ยืนยันจะไม่ลาออกกรณีที่นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ว่า ตนได้พูดไปแล้ว ความรับผิดชอบถ้ามันเลยขอบเขตก็จะกลายเป็นไม่รับผิดชอบ เพราะฉะนั้นเมื่อปัญหาเกิดขึ้นในยุคเรา ตนก็ไม่ปัดความรับผิดชอบ ตนก็มีหน้าที่ที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้ และเราไม่หนีปัญหา

นายจุรินทร์กล่าวว่า กรณีของนายวิทยา แก้วภราดัย ที่ออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปและยกตัวอย่างสมัยที่นายวิทยาดำรงตำแหน่งเป็นรมว.สาธารณสุขซึ่งเคยถูกกล่าวว่าทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง นายวิทยาได้แสดงความรับผิดชอบ แสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่งรมว.สาธารณสุข แต่กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้ลาออก แต่กรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้หนีปัญหา และมีมติให้ปรับคณะรัฐมนตรี และตนก็เป็นคนที่ถูกโยกจากรมว.ศึกษาธิการไปเป็นรมว.สาธารณสุขเพื่อไปแก้ไขปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข

“เป็นมาตรฐานหรือสิ่งที่เราเคยปฏิบัติมา ยุคนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนมาตรฐาน เมื่อคุณปริญญ์ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา คุณปริญญ์ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งภายในพรรค กรรมการบริหารพรรคก็ไม่มีหน้าที่ที่จะแสดงความรับผิดชอบจนเกินเลยขอบเขตของความรับผิดชอบจนกลายเป็นการหนีความรับผิดชอบ และกรรมการบริหารพรรคก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่พรรคในวันนี้จะทำให้จบปัญหาหรือไม่หรือจะเป็นระเบิดเวลา ว่า ที่ประชุมเข้าใจในคำชี้แจง ทุกวิกฤตมีโอกาส ไม่ได้แปลว่าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เจอปัญหานี้แล้วจะเดินต่อไปไม่ได้ บางคนพูดว่าประชาธิปัตย์จบแล้ว ซึ่งตนไม่คิดว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า หากมีกรรมการบริหารพรรคลาออกจะทำอย่างไร นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนและต้องเคารพการตัดสินใจ

“ทุกวิกฤตยังมีโอกาส เราไม่ประสงค์ให้ใครออกจากพรรค แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็มีหน้าที่ต้องหาคนใหม่ในการเข้ามาทดแทน ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยที่ใครจะลาออกไป ทุกองค์กรมีเข้ามีออก แต่ทุกองค์กรก็มีหน้าที่สร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาที่จะต่อเติมให้กับอนาคตให้กับองค์กร ประชาธิปัตย์ก็เช่นเดียวกัน ไม่เช่นนั้นประชาธิปัตย์ไม่สามารถยั้งยืนอยู่มาได้ 76 ปี เดินหน้าเข้าสู่ปี 77 ไม่ได้หรอกครับ”

ทั้งนี้ แกนนำสำคัญที่มาร่วมงานด้วยตัวเองในวันนี้ นอกจากรัฐมนตรีของพรรคอย่าง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กรรมการบริหารพรรค อาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ นายวิรัช ร่มเย็น นายอัศวิน วิภูศิริ น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นายธนา ชีรวินิจ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรค นายชวลิต รัตนสุทธิกุล นายทวีโชค อ๊อกกังวาล

ขณะที่องค์ประชุมที่เป็น ส.ส. ของพรรคที่เป็น บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วย นายชวน หลีกภัย นายสินิตย์ เลิศไกร นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ นายเกียรติ สิทธีอมร ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.สงขลา น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส. กระบี่ นายสราวุธ อ่อนละมัย ส.ส.ชุมพร นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์

อดีต ส.ส. ของพรรค อาทิ นายสัมพันธ์ ตั้งเบญจผล นายสากล ม่วงศิริ นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท นายวัชระ เพชรทอง นางพจนารถ แก้วผลึก นพ.บรรพต ตันธีรวงศ์ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ นายธนิตพล ไชยนันทน์ นายณรงค์ ดูดิง นายกุลเดช พัวพัฒนกุล นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ นายเจะอามิง โตะตาหยง

อดีตรัฐมนตรีของพรรค อาทิ นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายสัมพันธ์ ทองสมัคร นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายเอนก ทับสุวรรณ พร้อมด้วยตัวแทนพรรคจากทุกภาค
สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชุมผ่านระบบ ZOOM