มติ ครม. สั่งห้ามบุคคลล้มละลาย ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-ข้าราชการ

ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ ห้ามบุคคลล้มละลายดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส.-ส.ว. ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมถึงตำแหน่งสำคัญในภาคเอกชน-ข้าราชการ

วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งหรือการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายในกฎหมาย ตามที่คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเสนอ และให้ส่วนราชการนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณากฎหมาย

ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายเป็นรายฉบับ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงลักษณะการทำหน้าที่ ความรับผิดชอบ และผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานในตำแหน่งหรืออาชีพนั้นด้วย

ทั้งนี้ จะพิจารณาตามประเภทตำแหน่งและอาชีพดังนี้ คือ 1.ตำแหน่งสำคัญในภาครัฐ ควรกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริตดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง หรือตำแหน่งสำคัญอื่นในภาครัฐ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญแทนบุคคลอื่น จึงควรเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม

2.ตำแหน่งสำคัญในภาคเอกชน กฎหมายอาจกำหนดข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่งเนื่องจากเหตุที่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายไว้ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอาจกำหนดห้วงเวลาการห้ามไม่ให้บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งไว้ด้วย เพื่อเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ได้สัดส่วนตามความจำเป็น เช่น พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งห้ามมิให้สถาบันการเงินแต่งตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งเป็นบุคคลล้มละลาย หรือพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ทำหน้าที่ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน

3.การดำรงตำแหน่งกรรมการในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือกิจการ ควรกำหนดห้ามไม่ให้บุคคลล้มละลายดำรงตำแหน่งกรรมการทุกกรณี ส่วนในกรณีที่ความเชี่ยวชาญของตำแหน่งกรรมการนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือกิจการ ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้การเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายเป็นข้อจำกัดในการดำรงตำแหน่ง

4.การรับราชการ ปัจจุบันกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารงานบุคคลในภาครัฐหลายฉบับกำหนดข้อจำกัดห้ามบุคคลล้มละลายเข้ารับราชการ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเหตุผลและความจำเป็นตามหลักรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว กฎหมายไม่ควรกำหนดห้ามเป็นการทั่วไปไม่ให้บุคคลซึ่งเป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายเข้ารับราชการ ทั้งในกรณีของการเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว

5.การประกอบอาชีพอื่น ๆ หากเป็นอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือกิจการ หรือมีเหตุผลหรือความจำเป็นอื่นที่ไม่อาจให้บุคคลล้มละลายเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นได้ ให้สามารถกำหนดข้อจำกัดดังกล่าวไว้ในกฎหมายตามความจำเป็นและเหมาะสมได้

ทั้งนี้ การนำหลักเกณฑ์ข้างต้นไปประกอบการพิจารณาการจัดทำร่างกฎหมายและการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ จะช่วยให้การจัดทำร่างกฎหมายไม่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินความจำเป็น มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาวการณ์มากขึ้น และช่วยลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพของบุคคลล้มละลายด้วย