รณรงค์ประหยัดน้ำ : หนึ่งวิธีรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน

การประหยัดน้ำ หนึ่งในเรื่องที่หลายคนคงถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กจนโต เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำจึงมักออกมารณรงค์ประชาชนเสมอว่าให้สงวนทรัพยากรน้ำและใช้อย่างรู้คุณค่า

ถึงแม้ว่า 2 ใน 3 ของโลกจะปกคลุมไปด้วยน้ำ แต่ทว่าโดย 97% เป็นน้ำเค็ม และอีก 3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด และแม้ว่าน้ำจะเป็นทรัพยากรหมุนเวียน แต่น้ำที่สามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคมีจำกัด ทั้งยังมีต้นทุนในการผลิต

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรง โดยน้ำต้นทุนในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีระดับน้ำน้อยเข้าขั้นวิกฤติ เหลือน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ) ได้ประกาศให้ 23 จังหวัด เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) อีกทั้งภัยแล้งจะขยายพื้นที่เพิ่มเติมในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ภาคกลาง พื้นที่ในเขตชลประทานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำเพื่อการเกษตร

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทวีความรุนแรงจากปัจจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาในโครงการวิจัยเรื่องแนวโน้มประชากรและความต้องการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดย ผศ.ดร. มาร์ก เฟิลแคร์ และ ผศ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ได้วิเคราะห์ปริมาณความต้องการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลระหว่างปี 2561 -2581 ภายใต้ สมมติฐาน 3 ระดับ คือ การคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำระดับต่ำ ปานกลาง และสูง

จากผลการศึกษาการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำระดับปานกลาง พบว่า ความต้องการใช้น้ำของปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเป็น 692 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีความต้องการน้ำอยู่ที่ 674 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วหลังจากปี 2563 ความต้องการน้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 723 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2568 และเพิ่มขึ้นถึง 754 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2581 ซึ่งในปี 2581 เมื่อเทียบกับปี 2561 แล้ว มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้นถึง 11.9% และโดยความต้องการน้ำเฉลี่ยต่อปีจะเท่ากับ 177 ล้านลูกบาศก์เมตร สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ผลการวิจัยระบุว่า แหล่งน้ำของคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรีและสมุทรปราการ) มีการประปานครหลวง (กปน.) ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแล โดยน้ำประปาถือเป็นแหล่งน้ำแหล่งเดียวของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวความคุ้นชินที่น้ำประปาราคาถูก โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 8.50-9.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตร อาจทำให้ประชาชนละเลยที่จะประหยัดน้ำ ซึ่งการรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมไปถึงให้เห็นความสำคัญของการประหยัดน้ำการกำหนดมาตรการรณรงค์ประหยัดน้ำหรือมาตรการจูงใจอื่น ๆ ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินอยู่เสมอ

อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ในอนาคตข้างหน้าความท้าทายในการจัดการทรัพยากรน้ำจะเพิ่มมากขึ้นจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่คาดเดาได้ยาก

ดังนั้นแล้ว การรณรงค์ประหยัดน้ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้ใช้น้ำร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของน้ำ โดยข้อมูลจาก กปน. ระบุว่า การเปิดน้ำทิ้งไว้ 1 นาที จะสูญเสียน้ำไปมากถึง 9 ลิตร ถ้าประชาชนไทยกว่า 66.5 ล้านคน ร่วมกันประหยัดน้ำวันละ 1 นาที จะสามารถประหยัดน้ำได้ถึง 598 ล้านลิตร ไม่ต้องคิดไปไกลถึงปีหน้าแต่เริ่มลงมือตั้งแต่ตอนนี้ ทำให้เรื่องการประหยัดน้ำเป็นหนึ่งในกิจวัตร เพราะเรื่องของการประหยัดน้ำ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถร่วมมือช่วยเหลือกัน เพื่อรักษ์น้ำอย่างยั่งยืน

อ้างอิง
โครงการวิจัยแนวโน้มประชากรและความต้องการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล