ทีมแพทย์ BIH เผยความสำเร็จ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ

ทีมแพทย์ BIH เผยความสำเร็จ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ
เปลี่ยนข้อเข่าเทียมเทคนิคใหม่ระงับปวด ช่วยฟื้นตัวไว เดินได้ทันทีหลังผ่า

โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล หรือ BIH นำโดย ไมเคิล เดวิด มิตเชลล์ ผู้อำนวยการ พร้อมทีมผู้บริหารและคณะแพทย์ จัดงาน ‘Reboot Your Bounce คืนการเคลื่อนไหว ให้ชีวิตฟิตเต็มที่’ เพื่อเผยความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคไม่ตัดกล้ามเนื้อ (Direct Anterior Approach: DAA) และการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยเทคนิคใหม่ ระงับปวด Radiofrequency เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563

นพ.พนธกร พานิชกุล ศัลยแพทย์ออโธปิดิสก์ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ฯ อธิบายถึงวิธีการผ่าตัดที่นิยมในอดีตว่า เป็นการผ่าตัดแบบเข้าทางด้านหลัง ข้อเสียคือทำให้เกิดแผลใหญ่ มีอาการปวดมาก ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นการผ่าตัดแบบแบบเข้าทางด้านข้างซึ่งก็ยังทำให้มีแผลใหญ่และปวดเหมือนเดิม เวลาคนไข้เดินจะมีลักษณะกระเผลก โรงพยาบาลกรุงเทพจึงได้นำเทคนิคผ่าตัดแบบ DAA มาให้บริการผู้ป่วย ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ปวดน้อยมาก ไม่ตัดกล้ามเนื้อ และทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก

“โรงพยาบาลกรุงเทพได้ริเริ่มนำ ‘เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ’ มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 โดยหลังจากที่มีการประชาสัมพันธ์ถึงการนำเทคนิคการผ่าตัดใหม่ในประเทศไทยก็มีผู้มาเข้ารับการรักษาจำนวนมาก ต่อมาในปี 2017 มีวิวัฒนาการของแผลผ่าตัดที่เล็กลงเป็นแบบบิกินี่ ซึ่งจากเริ่มต้นจนถึงวันนี้มีผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดรวมแล้วกว่า 500 รายรวมถึงคนไข้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุในอดีตและมีเหล็กอยู่ในร่างกายจากการผ่าตัดมาก่อนหน้า”

“และในวันนี้ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนลยังได้ริเริ่มนำ ‘เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ’ เป็นแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์นำวิถีรุ่นใหม่ (JointPoint tm) ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะ เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมในขณะผ่าตัดให้แม่นยำมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บน้อยลงและฟื้นตัวได้ไวกว่าเดิม ข้อสะโพกเทียมรุ่นใหม่ก็ถูกออกแบบสำหรับการผ่าตัดแบบนี้โดยเฉพาะ ช่วยลดผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้ในขณะผ่าตัดได้ นอกจากนี้ใช้ ‘เทคนิคซ่อนแผลผ่าตัด’ เนื่องจากแผลขนาดเล็กจะอยู่ด้านหน้าบริเวณขาหนีบ ซ่อนใต้แนวกางเกงใน”

นพ.พนธกร สรุปถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคนี้มีข้อดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เช่น ฟื้นตัวได้ไวขึ้น เดินได้ทันทีหลังผ่าตัด อัตราการหลุดของข้อสะโพกเทียมต่ำมาก มีความยาวขาเท่ากันหลังผ่าตัด และสามารถเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสองข้างพร้อมกัน เป็นต้น

นพ.ศริษฎ์ หงษ์วิไล ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เฉพาะทางด้านผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพก กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลกรุงเทพว่า มีการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เนื่องจากผู้ป่วยมีหลายระยะ ตั้งแต่เริ่มมีอาการน้อย ปานกลาง การรักษาก็จะเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น เปลี่ยนจากการนั่งชักโครกแบบยองๆ การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม หรืออาจต้องกินยารักษาหรือการฉีดยาซึ่งได้ผลดีในระดับหนึ่งสำหรับคนไข้ที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่สำหรับคนไข้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมที่หนักแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นวิธีรักษาดีที่สุด

“สำหรับ ‘การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยเทคนิคระงับปวดรูปแบบใหม่’ มีผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดมากว่า 500 ราย ทุกรายสามารถเดินได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด งอเข่าได้มากกว่า 90 องศาก่อนกลับบ้าน นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมการักษาที่ออกแบบเฉพาะบุคคลตามแต่สภาวะผู้ป่วย เช่น ก่อนผ่าตัดจะนำ Digital Template วางแผนหาขนาดของข้อเข่าเทียมที่เหมาะสม ความหนา-บาง, เล็ก-ใหญ่ของกระดูกที่จะถูกตัดออก ต้องเอียงทำมุมเท่าใด มีการใช้เครื่องเอกซ์เรย์สองแกน สแกนตั้งแต่กระดูกสันหลังจนถึงปลายเท้าเพื่อสร้างภาพสามมิติออกมาช่วยวางแผนก่อนการผ่าตัด เป็นต้น”

เรื่องของความเจ็บป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนไข้กังวล นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ วิสัญญีแพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านระงับปวด กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลได้นำเทคนิคการระงับความเจ็บป่วยหลากหลายชนิดเข้ามาใช้ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหลากหลายกลุ่มร่วมกัน การบล็อคหลังรวมกับการให้ยาระงับความรู้สึกกเฉพาะส่วนพร้อมกับ ‘การใส่สายเพื่อให้ยาชาในช่องแอดดั๊กเตอร์ที่บริเวณต้นขา เพื่อลดระดับความปวด’ โดยที่กล้ามเนื้อยังทำงานได้ ช่วยให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดได้เร็วขึ้น พบว่าผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันที 2-3 ชั่วโมงหลังผ่าตัด

“นอกจากนี้ยังมี ‘เทคนิคการจี้ด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูงที่เส้นประสาทรอบข้อเข่า’ สามารถควบคุมความเจ็บปวดหลังผ่าตัดได้ดีกว่าและนานกว่าเป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือนจนถึงปี ซึ่งการจี้คลื่นวิทยุแบบมาตรฐานด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันมีการพัฒนาให้คลื่นพลังงานมีอุณหภูมิลดลง อยู่ที่ 60 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บปวดหลังการผ่าตัดที่น้อยมาก และฟื้นตัวได้ไวมากยิ่งขึ้น”

ในช่วงท้ายของงาน ‘Reboot Your Bounce คืนการเคลื่อนไหว ให้ชีวิตฟิตเต็มที่’ ยังมีสองผู้ป่วยมาพูดคุยถึงประสบการณ์จากการเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้แก่ โฮเวิร์ด มาร์ค เฟลแมน เจ้าของธุรกิจโรงแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ปวดสะโพกมาหลายปีจากอาการสะโพกเสื่อมทั้งสองข้าง เคยเข้ารับการรักษามาแล้วหลายโรงพยาบาล ก่อนจะมาเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมพร้อมกันสองข้างที่นี่ หลังจากผ่าตัดแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ เหมือนย้อนอายุไปได้เกือบ 20 ปี และ อุทิพร สงวนสัตย์ บอกสั้นๆ ว่า หลังจากได้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งสองข้างแล้ว เสมือนว่าได้เริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง แต่หากไม่รักษา อนาคตจะต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียงแน่นอน