ดร.รัตนา แซ่เล้า นักวิชาการด้านการศึกษา จากศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดินของในหลวงรัชกาลที่ 9

ปัจจุบันการศึกษาในประเทศไทยได้พัฒนาไปมาก เรามีเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่ทันสมัย รวมถึงการวิจัยในโครงการต่างๆ ที่มีประโยชน์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากครูหรือนักวิชาการด้านการศึกษา ที่ได้อุทิศตัวเพื่อเด็กเยาวชนไทยอย่างเต็มความสามารถ  และหนึ่งในนั้นก็คือ ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ด้านการศึกษา ประจำปี 2549 ที่ปัจจุบันได้เป็นหัวหน้าโครงการฯ ของมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ในการจัดทำ www.thailandlearning.org แหล่งเรียนรู้ในโลกออนไลน์ให้เด็กไทย, การจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง จากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎ ระเบียบ การบริหารทรัพยากรและความเป็นผู้นำ, การลงพื้นที่เก็บข้อมูลการวิจัย เรื่องความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Unite Thailand ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ ที่มีความเชื่อในเรื่องการใช้โอกาสเข้าถึงการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนผ่านงานศิลปะ

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย ได้กล่าวว่า “โครงการฯ จัดทำเว็บพอร์ทัลการเรียนรู้บนโลกออนไลน์ ภายใต้ชื่อ www.thailandlearning.org เป็นความร่วมมือของมูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย กับสถานทูตออสเตรเลีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้บนโลกออน ไลน์ให้เยาวชนไทย ซึ่งภายในเว็บไซต์ได้รวบรวมเนื้อหาที่หลากหลายจากทั่วโลก มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ครอบคลุมทุกวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ภายในแบ่งเป็น 3 เมนู คือ 1)เรียนรู้ จะรวบรวมข้อมูลเว็บไซต์เกี่ยวกับการศึกษาไทยและต่างประเทศ แยกตามสาขาวิชา 2)ทัศนศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลกผ่านหน้าจอ หรือ Virtual tour ที่สามารถให้ความรู้นักเรียนได้มากกว่าในตำรา และ 3)เครื่องมือ เป็นการแนะนำเครื่องมือสำหรับสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ที่เหมาะสำหรับนักเรียน ครู และผู้ปกครอง

นอกจากนี้ยังได้เป็นหัวหน้าจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง จากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากรและความเป็นผู้นำ เป็นการวิจัยสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ยังมีอุปสรรคด้านโครงสร้าง การขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงเงื่อนไขการขึ้นสู่ตำแหน่งของบุคลากรทางการศึกษา ที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา เพื่อประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง และการลงพื้นที่เก็บข้อมูลการวิจัย เรื่องความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เก็บข้อมูลจากประชาชนในภาคอีสานกว่า 1,400 คน เพื่อสำรวจในเรื่องสภาพเศรษฐกิจของตำบลและหมู่บ้าน, ความเปลี่ยนแปลงของรายได้ครอบครัว, การถือครองที่ดิน, การเป็นหนี้, การย้ายถิ่นฐาน, มุมมองต่อการสร้างเขตอุตสาหกรรม, การศึกษาในท้องถิ่น, สวัสดิการและความช่วยเหลือ, โครงการพัฒนา/นโยบายของรัฐในภาคอีสาน ฯลฯ ซึ่งได้ทำให้พบว่านอกเหนือจากความยากจนแล้ว ยังมีเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรที่ยังเป็นปัญหาหลัก ที่ทำให้การศึกษาขั้นพื้นฐานของเยาวชนไทยไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่

ส่วนการก่อตั้งกลุ่ม Unite Thailand นั้นเกิดขึ้นในปี 2554 จากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มาจากทุกสาขาอาชีพ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านเสรีภาพทางการแสดงออก เช่น การใช้ศิลปะหรือการพูด เป็นการสร้างพื้นที่สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับทุกคน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เปิดกว้าง ประกอบด้วยเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาล – ม.6 รวมถึงคนในชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯ ได้มีการจัดทำโครงการค่ายศิลปะให้เยาวชนในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย อาทิ กรุงเทพมหานคร, เลย, ลำพูน, กาญจนบุรี, ลพบุรี,ชลบุรี ฯลฯ รวมแล้วกว่า 26 ครั้ง”

สำหรับประวัติของ ดร.รัตนา แซ่เล้า นั้นจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่โครงการอังกฤษอเมริกันศึกษา คณะศิลปศาสตร์ (นานาชาติ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 ต่อมาได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ด้านการศึกษา ประจำปี 2549 ไปศึกษาต่อจนได้รับปริญญาเอกด้านการศึกษาเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย Teachers College Columbia University.NYC ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนเส้นทางการทำงานเริ่มต้นจากการเป็นนักวิจัยด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง พร้อมกับเขียนหนังสือชื่อ A Critical Study of Thailand’s Higher Education Reforms: The Culture of Borrowing ซึ่งได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศอังกฤษอย่าง Routledge หลังจากนั้นได้กลับมาเป็นอาจารย์ประจำวิชาการเมืองไทย และวิชาสังคม,เศรษฐกิจการพัฒนาไทย ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และหัวหน้าโครงการไทยศึกษา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนมารับตำแหน่งเจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชียประจำประเทศไทย