ช่วยเหลือผู้ต้องขังทั่วประเทศ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ

เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา

กองทุนกำลังใจในพระดำริฯ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือช่วยเหลือผู้ต้องขังทั่วประเทศ ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม ถวายเป็นพระราชกุศล “เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา”

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เวลา 11.00 น. กองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการและกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม

เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ณ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร

พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังใหญ่ผู้ใหญ่ประจำพระองค์ 908 กล่าวถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการและกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เคยพระราชทานแนวทางที่จะให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วยพัฒนาผู้ต้องขัง

จนถึงขั้นที่มีการยกร่างบันทึกความเข้าใจ และเตรียมที่จะมีการลงนามร่วมกันระหว่างกองทุนกำลังใจฯ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และเพื่อสืบสานพระปณิธานในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ กองทุนกำลังใจในพระดำริฯ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือขึ้น เพื่อพัฒนาผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงให้มีความพร้อมทุกด้านทั้งร่างกายและจิตใจก่อนออกไปสู่สังคมภายนอก และถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา วันที่ 7 ธันวาคม 2566

กรอบขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานจะประกอบด้วย การร่วมกัน กำหนดกรอบ แนวทาง และแผนงาน การจัดฝึกอบรมวิชาชีพ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ผู้ต้องขัง ในโครงการกำลังใจ, การจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพ ให้แก่ผู้ต้องขัง ในโครงการกำลังใจ, การสำรวจความต้องการอาชีพของผู้ต้องขัง ในโครงการกำลังใจ, การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมวิชาชีพ,

การจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะที่จำเป็น เพื่อยกระดับความรู้ให้แก่ผู้ต้องขังในโครงการกำลังใจ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ, การสนับสนุน และร่วมมือด้านบุคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน เอกสาร ตำรา อาคาร สถานที่ ตามที่ทั้งสี่ฝ่ายตกลงร่วมกัน,

“การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การประชาสัมพันธ์โครงการ และผลการดำเนินสาระสำคัญประการหนึ่งที่จะอยู่ในหัวข้อการพิจารณาคือ จะต้องปลูกฝังให้ผู้ต้องขังได้มีความรู้ ความเข้าใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ได้เข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาผู้ต้องขังในโครงการต่าง ๆ

เช่น ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ในเรือนจำภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาอาชีพและจิตใจ ภายใต้หลาย ๆ โครงการ” พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ต่อชาวราชทัณฑ์และต่อกระทรวงยุติธรรม โดยทรงนำบทเรียนที่ดีที่เกิดจากการให้ความสำคัญกับเด็กติดผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ และการเข้าใจถึงทุกข์ยากของผู้หญิงที่ต้องรับโทษจำคุก ณ ทัณฑสถานหญิงกลางแห่งนี้

รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงในมิติต่าง ๆ ไปนำเสนอในเวทีต่างประเทศและต่อมาเวทีของสหประชาชาติ ได้ให้การยอมรับในแนวทางดังกล่าวในชื่อของ Bangkok Reules หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กับผู้ต้องขังหญิงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หารือร่วมกับคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ และกรมราชทัณฑ์ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือขึ้น ซึ่งในบันทึกดังกล่าวประกอบด้วยหน่วยงาน 4 หน่วยที่จะลงนามในบันทึกดังกล่าว

ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หารือร่วมกับคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ และกรมราชทัณฑ์ โดยแต่ละหน่วยจะเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสนับสนุนและผลักดัน ให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาในทุกมิติเพื่อกลับคืนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีทักษะในศตวรรษที่ 21 ของสังคม

โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนภารกิจความร่วมมือในการพัฒนาผู้ต้องขังภายใต้โครงการกำลังใจฯ ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรด้านทักษะชีวิต คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรด้านทักษะอาชีพ คณะกรรมการกิจกรรมแนะแนวอาชีพ และคณะกรรมการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้ หลังจากได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือแล้ว จะเริ่มดำเนินงาน หรือการ kick off โครงการในช่วงเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยจะลงไปแนะแนวให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับทราบถึงแนวทางการวางแผนชีวิตภายหลังพ้นโทษ และจากนั้นจะมีการลงไปให้ความรู้เพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ ที่ตรงตามความต้องการและตรงกับตลาดแรงงานภายนอก

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือแล้ว ผู้ต้องขังหญิงจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้แสดงหน้าเวทีจำนวน 1 ชุด ในชื่อ ความฝันอันสูงสุด และจากนั้นคณะผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงยุติธรรม เยี่ยมชมนิทรรศการที่อธิบายถึงที่มาและกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ที่โครงการกำลังใจฯได้เข้ามาพัฒนาผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 17 ปี

และชมการสาธิตการฝึกวิชาชีพในฐานต่าง ๆ ได้แก่ การวาดภาพ ศาสตร์พยากรณ์ เครื่องศิลาภรณ์ สปากระเป๋า สิ่งประดิษฐ์ และการประกอบอาหาร จากนั้นได้เยี่ยมและมอบของที่ระลึกให้กับเด็กติดผู้ต้องขัง จำนวน 11 ราย และผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 16 ราย