ก้าวไกล ยื่นร่างแก้ พ.ร.บ. ทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ลาพักร้อน 10 วัน สะสมได้

ก้าวไกลยื่นร่างแก้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน
ภาพ: เฟสบุ๊คพรรคก้าวไกล

พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นร่างแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 28 ก.พ. 2567 ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากว่า 20 ปี เสนอทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ จ่ายโอที ลาพักร้อน 10 วันสะสมได้ ขึ้นค่าแรงทุกปี ฯลฯ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกล จะยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับก้าวไกลเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมานานกว่า 20 ปี โดยมีสาระสำคัญอยู่ 9 ข้อคือ

1.คนทำงานทุกคนคือแรงงาน : เปลี่ยนนิยาม “ลูกจ้าง” ให้ครอบคลุมทุกรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงอาชีพไรเดอร์ ฟรีแลนซ์ และแรงงานอิสระ เพื่อให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน

2.รายเดือน = 30 วัน : “การจ้างงานรายเดือน” ลูกจ้างต้องได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน รวมถึงค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วยตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ หนึ่งเดือนหมายถึงเวลา 30 วัน

3.เปลี่ยนรายวันเป็นรายเดือน : ในสถานประกอบการที่มีทั้งการจ้างงานรายวันและรายเดือน ผู้จ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ

4.เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทุกปีอัตโนมัติ : กำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายปี โดยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเงินเฟ้อ เช่น หากได้รับค่าแรง 400 บาท อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จะได้รับค่าแรง 412 บาทอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรอการประชุมไตรภาคี

5.ทำงาน 40 ชั่วโมง หรือ 5 วันต่อสัปดาห์ : เวลาทำงานรวมทั้งสิ้นของลูกจ้างต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากเกินต้องได้เงินค่าทำงานนอกเวลา (OT) และนายจ้างต้องจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน

6.ลาหยุด 10 วันต่อปี สะสมได้ : ให้ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน

7.ลาดูแลผู้ป่วย : ลูกจ้างมีสิทธิลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน

8.พื้นที่ปั๊มนมในที่ทำงาน : สถานที่ทำงานต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการให้นมบุตร หรือบีบเก็บน้ำนมในที่ทำงาน

9.ห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน : นายจ้างต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ทั้งจากความแตกต่างทางถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ความพิการ หรือความเห็นทางการเมือง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 บริเวณสกายวอล์ก สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สส. พรรคก้าวไกล นำโดยนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี น.ส.พุธิตา ชัยอนันต์ สส.เชียงใหม่ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. น.ส.ทิสรัตน์ เลาหพล สส.กทม. และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ ร่วมแจกเอกสารและรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรและจะเข้าสู่การพิจารณา

บรรยากาศการรณรงค์ในวันนั้นเป็นไปอย่างคึกคัก สส.พรรคก้าวไกลและทีมงานร่วมกระจายตัวกันไปแจกเอกสาร พูดคุยกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาหลังเลิกงานตามจุดต่าง ๆ บนสกายวอล์ก พร้อมทั้งปราศรัยประชาสัมพันธ์เนื้อหาของกฎหมายและสิทธิแรงงานที่จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น โดยมีประชาชนที่สนใจรับเอกสารไปอ่านจำนวนมาก บ้างก็เข้ามาพูดคุยซักถามถึงรายละเอียดในร่างกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของพรรคก้าวไกลมีบทความเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ โดยระบุว่าคนทำงานและแรงงานทุกคนเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ระบบสวัสดิการและระบบคุ้มครองแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมแรงงานทุกคนอย่างเพียงพอ ส่งผลให้คนทำงานมีภาระ มีข้อจำกัด และมีความเสี่ยงในระดับที่สูงมาก ทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิต

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน แรงงานกว่า 39 ล้านคนทั่วประเทศทุกอาชีพ กำลังเผชิญความท้าทาย หรือความไม่เป็นธรรมหลายประการ เช่น ค่าแรงที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ สถานภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง การกำหนดค่าตอบแทนที่ต่ำกว่ามาตรฐาน การทำงานเกินวันเวลาโดยไม่มีค่าชดเชย หรือสภาพแวดล้อมในที่ทำงานที่อันตราย

ยิ่งในปัจจุบันคนทำงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ที่อาจจะถูกเลิกจ้างหรือยุติการทำงาน อันเนื่องมาจากการถูกทดแทนโดยเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ จากภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย หรือจากเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ (เช่น  การแพร่ระบาดของโรค การเกิดภัยพิบัติ) ควบคู่กับกลไกที่ยังขาดประสิทธิภาพในการสนับสนุนการปรับตัวของคนทำงาน (เช่น การฝึกอบรมทักษะแรงงาน) หรือการช่วยเยียวยาความเสี่ยงของพี่น้องแรงงาน