“วันนักข่าว” เมื่อดิจิทัลเปลี่ยนวงการสื่อ แล้วทักษะอะไรจำเป็นต้องมี

นักข่าว
Photo by: The Climate Reality Project/unsplash

เมื่อดิจิทัลเปลี่ยนวงการสื่อ แล้วทักษะอะไรจำเป็นต้องมี ? ประชาชาติธุรกิจขอนำเสนอความสำคัญและที่มาของ “วันนักข่าว” วิวัฒนาการวงการสื่อ 20 ปีที่ผ่านมา และ 10 ทักษะที่นักข่าวต้องมี

วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ถือว่าเป็น “วันนักข่าว” ในประเทศไทย โดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า วันนักข่าวมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2510 จากกลุ่มนักข่าวรุ่นบุกเบิกหลายท่านที่พิจารณาเห็นว่า หนังสือพิมพ์ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ก็ได้เพิ่มพูนเป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นทุกที จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดวันที่ระลึกขึ้นสักวันหนึ่ง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้ร่วมวงการ

โดยมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ร่วมลงนาม สถาปนาวันนักข่าว คือ หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์ หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม หนังสือพิมพ์ซินเสียง หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย หนังสือพิมพ์หลักเมือง หนังสือพิมพ์ศิรินคร หนังสือพิมพ์สยามนิกร
หนังสือพิมพ์สยามรัฐ หนังสือพิมพ์สากล หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือนายโชติ มณีน้อย

ในอดีตวันนักข่าวถือเป็นวันหยุดขององค์กรที่ทำสื่อ และทำให้วันที่ 6 มีนาคมของทุกปีจะไม่มีหนังสือพิมพ์ออกมาขาย ต่อมาเมื่อความต้องการอ่านข่าวสารมีมากขึ้น ทำให้ประเพณีนี้ต้องยกเลิกไป

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

วิวัฒนาการวงการสื่อ

เทคโนโลยีได้จุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการสื่อสารมวลชน การพัฒนาที่โดดเด่น 3 ประการ คือ อินเทอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ และโซเชียลมีเดีย ได้มาเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงข่าว การสร้างข่าว และการนำเสนอข่าว

โดยระหว่างปี 2547 ถึง 2567 มีการทำช่องทางเผยแพร่ข่าวสารบนเว็บไซต์ แอปมือถือ และโซเชียลมีเดีย มากขึ้น ทั้งสำหนักข่าวออนไลน์ใหม่ก็ ๆ ก็ผุดขึ้นมาดังดอกเห็น ขณะเดียวกันสำนักข่าวแบบดั้งเดิมก็หันมาเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ โดยใช้วิธีนำผลิตคอนเทนต์นำเสนอบนช่องทางดิจิทัลแบบรายวัน ทุกชั่วโมง ควบคู่กับการเสนอข่าวช่องทางที่เป็นกระดาษ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงข่าวสารได้มากขึ้นกว่าที่เคย

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้าย เพราะในมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ยังขับเคลื่อนวิวัฒนาการของการสร้างสรรค์ข่าว ทำให้นักข่าวมีเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับการรายงานแบบเรียลไทม์ สามารถเผยแพร่เรื่องราวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และเข้าถึงผู้อ่านและผู้ชมในวงกว้างขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับผลตอบรับทันที

วารสารศาสตร์ตายหรือไม่ ?

เป็นเรื่องจริงที่สื่อเผชิญกับความท้าทาย ทั้งด้านรายได้ ความเร็ว และองค์ความรู้ แต่ความคิดที่ว่าสื่อสารมวลชนกำลังจะตายนั้นเป็นความเข้าใจผิด

ปัจจุบันคนไทยเกือบทุกคนเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและโซเชียล ดังนั้น เพื่อที่จะสามารถรักษาผู้เสพข่าวไว้ได้ นักข่าวจึงต้องปรับตัวสู่ออนไลน์ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วารสารศาสตร์สาขาใหม่จึงถือกำเนิดขึ้น นั่นก็คือ วารสารศาสตร์ดิจิทัล

ความจริงคือ เทคโนโลยีทำให้เนื้อหาเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่เคย ส่งผลให้การบริโภคคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2563 ผู้คนทั่วโลกบริโภคเนื้อหาออนไลน์เพิ่มขึ้นสองเท่าทุกวัน (จากการสำรวจของ DoubleVerify) นอกจากนี้ข่าวยังเป็นหนึ่งในเนื้อหาประเภทที่เติบโตเร็วที่สุด

นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งใช้เวลากับเว็บไซต์และแอปข่าวสารมากขึ้น และเริ่มมีผู้คนซื้อการสมัครรับข่าวสารสิ่งพิมพ์หรือดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เห็นว่า วารสารศาสตร์ยังไม่ตาย มันแค่แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ปัจจุบันองค์กรข่าวใช้แพลตฟอร์มสื่อหลายแห่งในการเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์ ได้แก่

  • เว็บไซต์และบล็อก
  • แอปมือถือ
  • พอดแคสต์
  • ภาพถ่ายและวิดีโอ
  • โซเชียลมีเดีย
  • Augmented Reality (AR)
  • Interactive website (เว็บไซต์ที่มีการตอบสนอง)

10 ทักษะเฉพาะตัวที่นักข่าวต้องมี

ปัจจุบันสื่อสารมวลชนจำเป็นต้องมีทักษะเฉพาะตัว และจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในทักษะการทำข่าวที่หลากหลาย โดยต้องมีความเชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิทัลมากพอ ๆ กับความรู้ดั้งเดิมของสื่อสารมวลชน

มหาวิทยาลัยเซนต์โบนาเวนเจอร์ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดสำหรับนักข่าวมี ดังนี้

1. การสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ยังคงเป็นทักษะด้านสื่อสารมวลชนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นเครื่องมือสำหรับการรวบรวมข้อมูลที่เชื่อถือได้ นักขาวสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบข้อมูล สำรวจมุมมองที่แตกต่าง ทั้งนี้ ทักษะการสัมภาษณ์เป็นมากกว่าการถามคำถาม

นักข่าวจำเป็นต้องเตรียมตัว ศึกษาประเด็น และเตรียมคำถามก่อนไปสัมภาษณ์ และในระหว่างการสัมภาษณ์ พวกเขาต้องมีทักษะการฟังที่ดี และความสามารถในการรักษาความลื่นไหลในการพูดคุย ซึ่งการสัมภาษณ์ที่มีคุณภาพไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทักษะการสัมภาษณ์ที่ดีจึงเป็นที่ต้องการอย่างมาก

2. การรายงาน

การรายงานเป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารมวลชน ต้องน่าเชื่อถือและมีการศึกษาข้อมูลมาอย่างดี นักข่าวในปัจจุบันจำเป็นต้องมีทักษะในการระบุ สังเกต รวบรวม ประเมิน บันทึก และแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ต้องรายงานด้วยความเห็นอกเห็นใจแหล่งข่าว ศึกษาข้อมูลก่อนหารรายงานอย่างละเอียด และประเมินข้อมูลให้เหมาะสมกับสื่อของตน

3. มีจริยธรรม

การผลิตข่าวที่มีมาตรฐานสูงสุดจะทำให้ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชน ในการทำเช่นนั้นได้ผู้สื่อข่าวต้องแสดงให้เห็นถึงทักษะการทำข่าวอย่างมีจริยธรรม นั่นหมายถึงการยึดมั่นต่อความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรม กายอมรับความหลากหลาย และเสรีภาพในการพูด

นักข่าวต้องใช้อุดมคติที่ดีที่สุด และมีจริยธรรมในการนำเสนอข่าวผ่านสื่อรูปแบบใหม่ อิงหลักการและกฎหมายเสรีภาพในการพูดและสื่อ จัดทำผลงานที่ครอบคลุมซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตระหนักถึงเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และความหลากหลายในรูปแบบอื่น ๆ

4. การเขียน

การเขียนเป็นทักษะพื้นฐานด้านสื่อสารมวลชนอีกประการหนึ่ง นักข่าวจะต้องเชี่ยวชาญในการสื่อสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับสื่อทุกประเภท ตั้งแต่เรื่องราวข้อความและสคริปต์พอดแคสต์ไปจนถึงคำบรรยายภาพและโพสต์บนโซเชียลมีเดีย

ทักษะการเขียนรวมไปถึงการทำความเข้าใจหลักไวยากรณ์และเครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ นักข่าวควรรู้วิธีการเขียนให้ชัดเจน และลดความซับซ้อนของข้อมูล

5. ทักษะการรายงานข่าวดิจิทัล

ความนิยมสื่อดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นของสาธารณชนส่งผลให้ทักษะการทำข่าวดิจิทัลมีความจำเป็นในปัจจุบัน นักข่าวจะต้องสามารถใช้เครื่องมือเล่าเรื่องดิจิทัลอย่างมีกลยุทธ์ เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ชมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งหมายถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปแบบสื่อที่ดีที่สุดที่จะให้บริการกลุ่มเป้าหมาย

ตัวอย่างทักษะการทำข่าวดิจิทัลมีดังนี้

  • สตรีมวิดีโอสดบนโซเชียลมีเดียจากอุปกรณ์มือถือ
  • การแปลงข้อมูลเป็นคอนเทนต์วิดีโอ
  • ถ่ายและตัดต่อวิดีโอ

นักข่าวยุคนี้ต้องใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่เพื่อนำเสนอคอนเทนต์ พวกเขาจำเป็นต้องมีทักษะการทำข่าวผ่านมือถือเพื่อถ่ายและแก้ไขภาพ บันทึกและแก้ไขเสียงและวิดีโอ รายงานแบบเรียลไทม์บนช่องข่าวโซเชียล หรือเผยแพร่เรื่องราวได้ทุกที่

6. การรายงานการสอบสวน

การรายงานเชิงสืบสวนจะช่วยปกป้องประชาชนและสังคมจากเรื่องไม่ดีที่เป็นอันตรายต่อสังคม ช่วยให้เกิดความรับผิดชอบ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และรักษาประชาธิปไตย

ในกรณีที่มีการกระทำผิดในสังคม ก็มีโอกาสที่นักข่าวจะรายงานการสอบสวน ด้วยเหตุนี้ ทักษะดังกล่าวจึงถือเป็นหนึ่งทักษะหลักด้านสื่อสารมวลชนเสมอ การรายงานเชิงสืบสวนต้องใช้ทักษะพิเศษ

8. การแก้ไข ปรับปรุงเนื้อหา

การแก้ไขยังเป็นทักษะด้านสื่อสารมวลชนที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดอีกด้วย นักข่าวควรรู้วิธีประเมินงานของตนและของผู้อื่นอย่างมีวิจารณญาณ

การคัดลอกเป็นขั้นตอนที่จำเป็นในการสร้างงานข่าว แต่ต้องทำด้วยความแม่นยำ ความเป็นธรรม ความชัดเจน มีสไตล์ที่เหมาะสม ถูกต้องทางไวยากรณ์

9. โซเชียลมีเดีย

โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข่าวดิจิทัลที่สำคัญในปัจจุบัน การบริโภคข่าวอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียหมายความว่านักข่าวจำเป็นต้องมีทักษะในการเชื่อมต่อกับผู้ชมบนแพลตฟอร์มที่เป็นที่ยอดนิยม เช่น Facebook, YouTube, X (Twitter), Instagram, LinkedIn เป็นต้น

นักข่าวต้องสามารถบริหารจัดการการโพสต์ข่าวลงโซเชียลมีเดียได้ เพราะนัดข่าวบางสำนักต้องเป็นทั้งนักข่าว และเป็นแอดมินบริหารจัดการเพจข่าวด้วย

10. ทักษะการรายงานข่าวผ่านวิดีโอ

นักข่าวยุคใหม่ต้องรู้วิธีสร้างเนื้อหาสำหรับวิดีโอ สื่อดิจิทัลทำให้คนมีช่องทางในการรับชมข่าวมากขึ้น ทักษะการทำข่าวผ่านวิดีโอมีทั้งด้านบรรณาธิการและด้านเทคนิค นักข่าวในปัจจุบันต้องมีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาการเล่าเรื่องที่น่าสนใจไปจนถึงการถ่ายและตัดต่อวิดีโอบนอุปกรณ์เคลื่อนที่