13 ต.ค. วันลดภัยพิบัติโลก Pulitzer Center ชวนปกป้องป่าฝนลุ่มน้ำโขง

Mekong river
Photo: Simon Berger/unsplash

ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากธุรกิจขนาดใหญ่ แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ ทำให้ป่าไม่พอที่จะปกป้องคนจากคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีเท่าเดิม

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 Pulitzer Center องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษา เปิดตัวแคมเปญ #ShowMeYourTree เมื่อวานนี้ (12 ตุลาคม 2565) เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและภูมิภาคอื่น ๆ มาร่วมมือกันปกป้องป่าฝนในภูมิภาค ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองและสมาร์ทโฟนที่ทุกคนใช้งานอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน

แคมเปญ #ShowMeYourTree ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกองทุน Rainforest Journalism Fund และรายงานของ Rainforest Investigations Network เป็นแคมเปญเพื่อสังคมบนโลกโซเชียลมีเดียเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ง่ายต่อการมีส่วนร่วมสำหรับทุกคน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับป่าไม้ในมุมมองของตนเอง

เอเชียตัดไม้มากที่สุดในโลก

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่อยู่อาศัยของป่าไม้เขตร้อนเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของโลก และมีชนิดพันธุ์พืช สัตว์ และสัตว์ทะเลถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนทั้งหมดทั่วโลก แต่ภูมิภาคนี้ยังมีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่สูงที่สุดในโลกอีกด้วย โดยสูญเสียป่าฝน 1.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม่น้ำโขงได้สูญเสียป่าไม้ไปถึง 38,230 ตารางกิโลเมตร เพื่อการตัดไม้ โครงสร้างพื้นฐาน และอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศไอร์แลนด์ ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม กำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากธุรกิจขนาดใหญ่ แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ จากการมุ่งเน้นในการสร้างเม็ดเงินจากทรัพยากรผืนป่าซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวม ทำให้ผืนป่าไม่สามารถปกป้องผู้คนจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่พร้อมสร้างภัยอันตรายต่อมนุษย์ได้ดีเท่าเดิมอีกต่อไป

ป่าทับคน คนทับป่า

แม้ปัญหาความขัดแย้ง ป่าทับคน คนทับป่าระหว่างชาวบ้านและรัฐจะเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อมานานกว่า 60 ปี นับตั้งแต่การประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 แต่ทว่าในปัจจุบันความขัดแย้งดังกล่าวก็ยังคงสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความพยายามของรัฐในการทวงคืนผืนป่าในช่วงปี 2557-2558 ด้วย นโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช.โดยมีเป้าหมายหลักคือการยึดคืนพื้นที่จากนายทุนที่บุกรุกและใช้ประโยชน์จากป่าโดยมิชอบเป็นหลัก

แม้ว่า คสช.ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ไม่ใช้บังคับกับผู้ยากไร้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีชาวบ้านผู้ยากไร้ในหลายจังหวัดทั่วประเทศได้รับผลกระทบจำนวนมาก หลายคนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานโดยไม่มีที่ทำกินรองรับ การยึดคืนพื้นที่จึงเป็นการซ้ำเติมให้ชาวบ้านเหล่านั้นสูญเสียวิถีชีวิตของตนเอง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนด้วย

ปัจจุบันแม้จะมีความพยายามในการแก้ปัญหา โดยการแก้ไขปรับปรุง และประกาศ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 แต่ชาวบ้านกลับมองว่าเงื่อนไขที่ตามมาอาจเป็นการจำกัดสิทธิการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าอย่างแท้จริง สำหรับชุมชนที่มีวิถีชีวิต คนอยู่กับป่าที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในหลายมิติมาอย่างยาวนาน ทั้งทางวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งความเชื่อหรือจิตวิญญาณ

แม้เป้าหมายปลายทางจะเป็นการมุ่งอนุรักษ์และรักษาป่าไม้ไม่ต่างกัน แต่หากแนวคิดการอยู่ร่วมกันของ คนกับป่าระหว่างรัฐและชาวบ้านยังอยู่กันคนละด้าน และขาดกลไกในการจัดการปัญหาร่วมกัน ปัญหาป่าทับคน คนทับป่า ก็ยังคงดำเนินต่อไป

เสียงจากนานาประเทศ

นางสาวฟลอรา เปเรรา ผู้อำนวยการด้านการศึกษานานาชาติและการประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม การตัดไม้ทำลายป่า และสิทธิของชนพื้นเมือง ไม่ใช่หัวข้อที่ง่ายต่อการสื่อสารหรือทำให้คนอยากมีส่วนร่วมเสมอไป อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นส่วนสำคัญของสมการนี้ เพราะเสียงของพวกเขาจะส่งต่อไปยังผู้ติดตามได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นท่ามกลางข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่มีอยู่มหาศาล

นายแอนทอน แอล. เดลกาโด ผู้ที่ได้รับทุนจาก Rainforest Investigative Network กล่าวว่า การเข้าถึงคนบนโลกโซเชียลมีเดียมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องป่าฝนและทรัพยากรธรรมชาติ เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และนักข่าว จะทำให้เราสามารถเผยแพร่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของ Pulitzer Center ไปสู่ผู้คนหลากหลายกลุ่มได้ในวงกว้างมากขึ้น

นางสาวแคทเธอรีน แฮร์รี่ vlogger ชาวกัมพูชาและผู้ก่อตั้งบล็อก A Dose of Cath กล่าวว่า ต้นไม้ทุกต้นล้วนมีประวัติความเป็นมา เรื่องราว และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ต้นไม้สามารถบอกเล่าเรื่องราวได้โดยที่ไม่ต้องเอ่ยปากพูดออกมา นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้ เพราะประวัติศาสตร์ของป่าฝนของเราและรากเหง้าของมันมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์มนุษย์อย่างแยกไม่ออก พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน

“จากปัญหาชุมชนพลัดถิ่นอันเป็นผลมาจากการทำเหมืองทองคำในเมียนมา ไปจนถึงการลักลอบล่าสัตว์และตัดไม้บนภูเขากระวานของกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย และการขับไล่ชนเผ่าพื้นเมืองออกจากดินแดนบรรพบุรุษในประเทศไทย ภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่เสียงของเรามักถูกปิดปาก”

นายอาล็อค ชาร์มา ประธาน COP 26 เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเราลงมือทำตอนนี้ และลงมือทำร่วมกัน เราจะสามารถปกป้องโลกอันมีค่าของเราได้

ร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องป่าไม้ที่เป็นของพวกเราทุกคนผ่านแคมเปญ #ShowMeYourTree ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพียงแค่แชร์คอนเทนต์ของคุณเกี่ยวกับป่า ต้นไม้ หรือพืชที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็น ความทรงจำ ภาพถ่าย อินสตาแกรมสตอรี่ อินสตาแกรมรีล มีม สโลแกน หรือภาพวาด… ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง เรื่องตลก หรือเรื่องบังเอิญ และส่งเสียงตะโกนบอกให้โลกรู้ผ่านแฮชแท็ก #ShowMeYourTree