คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก นวัตกรรมเสาเข็มคอนกรีตรักษ์โลก

นันทพัทธ์ มณีนิธินันทน์
นันทพัทธ์ มณีนิธินันทน์

ดั่งที่ทุกคนทราบ การสานต่อธุรกิจครอบครัวของลูก ๆ หลาน ๆ ในตระกูล ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน โดยเฉพาะเจเนอเรชั่น 2-3 ที่กำลังเข้ามาบริหารธุรกิจ ทั้งนั้นเพราะเขา และเธอต้องผจญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับจากพนักงานรุ่นก่อตั้ง และรุ่นปัจจุบัน

การดำเนินธุรกิจเพื่อให้กำไรสูงสุด

การบริหาร “คน” ที่มีหลากหลายรูปแบบ และอื่น ๆ อีกมากมาย

แต่สำหรับ “นันทพัทธ์ มณีนิธินันทน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เกรท คอนกรีต จำกัด เจเนอเรชั่นที่ 3 ในธุรกิจก่อสร้างเสาเข็มคอนกรีต, ถนน, สะพาน ซึ่งดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ จนมาถึงรุ่นคุณพ่อ กระทั่งมาถึงรุ่นเขาที่ไม่เพียงจะต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจในปีที่ 45 หากเขายังจะต้องขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อให้บริษัทเกิดความยั่งยืนในอนาคต

“นันทพัทธ์” บอกว่า หลังจากผมเรียนจบคณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เมื่อไม่นานผ่านมา ผมเข้ามาช่วยธุรกิจของครอบครัวทันที ยอมรับครับว่าผมเองไม่มีพื้นความรู้ทางด้านธุรกิจก่อสร้างเลย แรก ๆ รู้สึกกังวลเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เห็นคุณพ่อ-คุณแม่อยู่ในธุรกิจนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็พอทำให้อุ่นใจอยู่บ้าง

บริษัทเราอยู่กรุงเทพฯ แต่โรงงานอยู่ อ.บางเลน จ.นครปฐม ผมจึงต้องไปบางเลนทุกวัน เพื่ออยากรู้ว่าธุรกิจเสาเข็มคอนกรีตนั้นผลิตอย่างไร กลุ่มลูกค้าเราอยู่ที่ไหน และถ้าจะทำแผนการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ต้องทำอย่างไร ช่วงนั้นผมทำการบ้านเยอะมาก พร้อมกับคุยกับทีมงานผลิต ทีมงานขาย และทีมงานช่าง เพื่อหาข้อมูลต่าง ๆ เพราะผมรู้ดีว่าจุดอ่อนผมคือไม่มีความรู้ทางด้านวิศวะ แต่จุดแข็งผมมีความรู้ทางด้านการบริหารการตลาด

“ผมจึงพยายามนำจุดแข็งมาปิดจุดอ่อน ขณะเดียวกันผมต้องพยายามควบคุมเรื่องคุณภาพ จนทำให้ปีแรก ๆ ที่ผมเข้ามาบริหารธุรกิจ ปรากฏว่าจากที่เคยกำไรเพียงปีละ 60 ล้านบาท แต่หลังจากผมเข้ามาบริหาร ผมสามารถทำกำไรได้ถึงปีละ 200 ล้านบาท”

ผลตรงนี้ ไม่เพียงทำให้ “ครอบครัว” เริ่มเชื่อมั่นในตัว “นันทพัทธ์” มากขึ้น หากยังทำให้พนักงานทั้งสองแห่งเริ่มยอมรับในตัวเขาด้วย แต่กระนั้น “นันทพัทธ์” ก็ไม่เหลิงในคำชมที่ทุกคนมีให้ ตรงกันข้าม เขากลับพยายามศึกษาข้อมูลทางธุรกิจ ศึกษาข้อมูลของผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน

จนพบว่าโรงงานผลิตเสาเข็มคอนกรีตมีทั้งหมด 700 แห่งทั่วประเทศ เฉพาะภาคกลางมี 300-400 แห่ง ส่วนที่เหลือกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ

แต่สำหรับโรงงานผลิตเสาเข็มคอนกรีตหน้าตัดรูปตัวไอ, เสาเข็มคอนกรีตหน้าตัดสี่เหลี่ยม, เสาเข็มลูกฟูก และแผ่นพื้นคอนกรีตประเภทไซซ์กลาง ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทเดียวกันกับเขา มีอยู่ประมาณ 200 แห่ง และใน 200 แห่งนั้นยังผลิตแบบเดิม ๆ คือ เดินลวด, ผูกเหล็ก, เข้าแบบ, เตรียมแพลนต์ปูนผสมคอนกรีต, รอเสาเข็มเซตตัว, เก็บเข้าสต๊อก จากนั้นจึงเตรียมส่งงานให้กับลูกค้า

มองเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร

แต่สำหรับ “นันทพัทธ์” กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะจากการฝังตัวอยู่โรงงาน ทำให้เขาเห็นว่าขณะที่ทีมงานผลิตเสาเข็มแต่ละครั้ง ไม่เพียงทำให้เกิดฝุ่นปูนกระจายอยู่รอบ ๆ โรงงาน หากยังกระจายไปสู่บ้านเรือนของชุมชนโดยรอบด้วย กอปรกับช่วงผ่านมาตั้งแต่สมัยคุณปู่จนมาถึงคุณพ่อเคยนำเสาเข็มคอนกรีตไปช่วยก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้กับวัด และโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่สมัยนั้นยังไม่มีการทำกิจการเพื่อสังคมเลย เป็นแค่เพียงการช่วยเหลือแบบให้น้ำใจกับชุมชนจริง ๆ

ที่สำคัญ ตอนนั้นอำเภอบางเลนยังไม่เจริญเหมือนปัจจุบัน ดังนั้นถ้าจะต้องทำธุรกิจให้ยั่งยืนในอนาคต เขาควรต้องนำนวัตกรรมอะไรบางอย่างมาทำให้ธุรกิจของเขาดูแลพนักงาน และคนในชุมชนโดยรอบให้ปลอดภัยจากฝุ่นปูนที่กระจายอยู่ในอากาศด้วย

“โรงงานมีเนื้อที่ 36 ไร่ มีทีมงานประมาณ 35-40 คน ทุกครั้งเวลาหล่อเสาเข็มจะมีฝุ่นปูนกระจายทั่วโรงงาน และบางครั้งกระจายออกไปสู่ชุมชนข้าง ๆ ด้วย ผมเห็นแล้วคิดว่าถึงเวลาที่เราควรนำนวัตกรรมอะไรมาใช้ภายในโรงงานได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นสุขภาพของทีมงานจะแย่ ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้คนในชุมชนเกิดผลข้างเคียงกับฝุ่นปูนด้วย กอปรกับช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 กำลังการผลิตลดลง ผมจึงเริ่มลงมือศึกษาข้อมูลว่ามีประเทศไหนมีนวัตกรรมที่จะมาช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้าง”

หลังจากลงมือศึกษาข้อมูลอยู่ระยะหนึ่ง “นันทพัทธ์” พบว่ามีอยู่ 2 ประเทศที่เขานำนวัตกรรมในการทำเสาเข็มคอนกรีตแบบช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังคือ ประเทศจีนกับประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะประเทศจีนตอนนี้นวัตกรรมเรื่องนี้เขาพัฒนาไปไกลมาก อาจเป็นเพราะบ้านเมืองเขาขยายตัวเร็ว จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต ขณะที่ประเทศเยอรมนีมีความโดดเด่นในเรื่องนวัตกรรมการก่อสร้างอยู่ก่อนแล้ว

เพียงแต่ช่วงระหว่างนั้น จีนปิดประเทศไม่สามารถเดินทางได้ เขาจึงเบนเข็มไปศึกษาและดูโรงงานประเทศเยอรมนี จนพบคำตอบว่านอกจากจะช่วยลดปัญหาฝุ่นปูนอย่างถาวร ยังช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ลดต้นทุน ราคาถูกกว่าเดิม และยังใช้กำลังคนน้อยกว่าปกติด้วย

“เครื่องจักรตัวนี้ราคาประมาณ 30-40 ล้านบาท และกระบวนการทำงานจะผสมทุกอย่างลงไปในเครื่องเลย จากนั้นเครื่องจักรจะทำการรีดแห้งออกมา ก่อนจะตัดตามขนาดที่ลูกค้าออร์เดอร์มา เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของผมเป็นหมู่บ้านจัดสรร และพวกโครงการต่าง ๆ ที่ทำถนน สะพาน ในกรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, ราชบุรี, กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี พูดง่าย ๆ นวัตกรรมตัวนี้ช่วยลดต้นทุน 10-20% ดังนั้นพอเวลาลูกค้าซื้อไป เขาจะได้สินค้าดี ราคาถูก แถมยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”

เพียงแต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจา แต่ “นันทพัทธ์” คาดว่าประมาณก่อนปลายปี 2566 ทุกอย่างคงจบ และคงนำมาใช้ภายในโรงงานอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของภาครัฐ และเอกชนมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ ขณะที่โครงการบ้านจัดสรรแนวราบก็ขยายออกสู่ชานเมืองมากขึ้น จึงคาดว่าในอนาคตนวัตกรรมตัวนี้คงได้รับความนิยมมากขึ้น

“ตอนนี้ผมเริ่มวางแผนการตลาด และประชาสัมพันธ์บ้างแล้ว พร้อม ๆ กับเริ่มทำความเข้าใจกับดีลเลอร์ เพื่อให้เขาลองไปพูดคุยกับลูกค้าดู ซึ่งผ่านมาลูกค้าตอบรับค่อนข้างดี และเริ่มเปิดกว้างที่จะเข้าใจในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย อาจเพราะเป็นเทรนด์ของโลกด้วย เพราะอย่างที่ทุกคนทราบดี ตอนนี้บ้านเราผจญกับปัญหา PM 2.5 ค่อนข้างมาก ผมจึงมั่นใจว่าถ้าบริษัทของเราผลิตเสาเข็มคอนกรีตที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ก็น่าจะทำให้ลูกค้าตอบสนองไปในทิศทางที่ดี”

“ผมเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ”