IPG Mediabrands พัฒนา “คน” สร้างองค์กรด้วยความสุข

IPG Mediabrands คือองค์กรระดับโลก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร และการวิเคราะห์ข้อมูลที่อยู่ในเครือ Interpublic Group (IPG) ด้วยการบริหาร และดูแลการลงทุนทางด้านการสื่อสารการตลาดให้กับลูกค้าที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 130 ประเทศทั่วโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสื่อสารรวมตัวกันมากกว่า 10,000 คน

ที่สำคัญ บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่หลากหลายบนพื้นฐานของความเสมอภาค โดยปลูกฝังการแบ่งปันความคิด และมุมมองที่แตกต่าง ทั้งยังตั้งใจดึงดูด และรักษาพนักงานด้วยความเข้าใจ เพื่อเป็นแหล่งรวมผู้มีความสามารถ

มาลี กิตติพงศ์ไพศาล
มาลี กิตติพงศ์ไพศาล

“มาลี กิตติพงศ์ไพศาล” Executive Business Consultant ของ IPG Mediabrands กล่าวว่า IPG Mediabrands มีการให้บริการแบบครบวงจรในทุกมิติของการเป็น agency ระดับโลก โดยภายในเครือข่ายมีหลายบริษัทที่ทำการวางแผนสื่อและการตลาดชั้นนำ

อย่าง UM, Initiative และ BPN และกลุ่มบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านข้อมูลและการวิจัยอย่าง Matterkind, Healix, Identity, IPG Media Lab, MAGNA, Orion Holdings, Rapport และดิจิทัลเอเยนซี่อย่าง Reprise

กลยุทธ์ของ IPG Mediabrands คือ “CLIENT-FIRST, CONSULTING-LED, COMMUNITY-DRIVEN” ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ และการตลาด ทั้งยังมีภารกิจเพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าของเราจะชนะในตลาด ด้วยพอร์ตโฟลิโอของแบรนด์และวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ด้วยการนำเสนอสื่อ และความสามารถด้านการตลาดที่จำเป็นต่อการลงทุน และขยายธุรกิจของลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“ธุรกิจของเราไม่ได้ขายสินค้า แต่เป็นการขายบริการ และความเชี่ยวชาญ ดังนั้น คนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราขับเคลื่อนด้วยความสามารถของคน นอกจาก HR ของเราจะเน้นกลยุทธ์พัฒนาความรู้ความสามารถของคนแล้ว ยังเน้นเรื่องการรักษาคนให้อยู่องค์กรได้นาน ในแบบ happy organization ด้วย”

“เมื่อก่อนที่ดิฉันจะรับตำแหน่งซีอีโอ เราโฟกัสเรื่องการเติบโตของธุรกิจ แต่พอมาอยู่ในตำแหน่ง Executive Business Consultant มีหน้าที่ดูแลฝ่ายบุคคลทั้งหมด จนมีความเชื่อว่าการพัฒนาคนผ่านการฝึกอบรมอย่างไม่มีระบบจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ จึงต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจ ตรงนี้จึงทำให้เราเริ่มก่อตั้ง MB Academy เพื่อเป็นสถาบันสร้างคนให้มีคุณภาพ และผลิตคนให้ทำงานร่วมกับลูกค้า จนลูกค้าเกิดความประทับใจ”

สำหรับวิสัยทัศน์ของ MB Academy คือ “TED 2C” ประกอบด้วย

หนึ่ง T : top-down supporting โปรแกรมนี้ได้รับความสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในองค์กรทุกคน

สอง E : excellent coaching team ในองค์กรมีผู้เชี่ยวชาญอยู่หลากหลาย เราให้พวกเขาฝึกสอนน้อง ๆ

สาม D : data collection เนื้อหาการสอนเป็นเนื้อหาที่มีคุณค่า ไม่ควรปล่อยทิ้ง จึงเก็บบันทึกเพื่อเปิดเป็นห้องสมุด

สี่ C ตัวแรก : combination of learning tool การเรียนรู้ถ้าเป็นรูปแบบเดียวจะน่าเบื่อ ฉะนั้น จึงต้องผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น one-on-one, ออนไซต์ หรืออีเลิร์นนิ่ง และ C ตัวที่ 2 : clear objective to upskill people โดยปีนี้เราเน้นเรื่อง upskill เทรนด์ใหม่ ๆ

“แวดวงการสื่อสารการตลาดมีความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้น คนทำงานต้องไม่ติดอยู่แต่ในตำรา เพราะหลักสูตรที่เรียนในมหาวิทยาลัยอาจเปลี่ยนตามไม่ทันโลกจริง ๆ MB Academy จึงเข้ามาช่วยอัพเดตความรู้ใหม่ ๆ ให้คนทำงานด้านนี้อยู่เสมอ คนต้องไม่หยุดนิ่ง และมี growth mindset และ positive mindset ผู้บริหารองค์กรต้องนำทักษะ และความรู้ของพนักงานแต่ละคนมาต่อจิ๊กซอว์กันให้สมบูรณ์”

“มาลี” กล่าวด้วยว่า คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นก่อนให้คุณค่ากับสิ่งที่ต่างกัน คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ short term มากกว่า long term จึงสนใจสิ่งตอบแทนจากการทำงานที่เน้นด้านความสะดวกสบายมากกว่าความมั่นคง เช่น ต้องการพื้นที่ส่วนตัว ต้องการสวัสดิการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น ฟิตเนส ที่จอดรถ และอยากได้ความยืดหยุ่น เช่น ทำงานจากที่ไหนก็ได้

IPG Mediabrands จึงให้ความสำคัญกับ DEI หมายถึง diversity (ความหลากหลาย), equity (ความเสมอภาค) และ inclusion (การผนวกรวม) ซึ่งการศึกษาของ McKinsey & Company ระบุว่า บริษัทที่พนักงานมีความหลากหลาย มีผลตอบแทนทางธุรกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าบริษัทที่คนทำงานเป็นคนกลุ่มเดียวกัน พื้นเพคล้ายกัน

ซึ่ง IPG Mediabrands เชื่อว่าความหลากหลายทำให้เกิดผลงานที่ดีกว่า นอกจากนั้น พนักงานที่แตกต่างหลากหลายยังช่วยให้บริษัทเข้าใจ และรับมือกับลูกค้าหลายประเภทได้ดีขึ้นด้วย บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

สำหรับการเปิดรับพนักงานที่มีความหลากหลาย บริษัทเราไม่จำกัดเรื่องเพศ ที่มา ศาสนา หรือแม้แต่การศึกษา เราส่งเสริมให้คนที่เรียนจบทุกสายงานมีโอกาสทำงานในด้านการสื่อสารการตลาดได้ โปรแกรม Young Talent รับคนที่สนใจทำงานร่วมกับเรา โดยไม่จำกัดสาขา โดย 4 เดือนแรก พวกเขาจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ เราลงทุนเกี่ยวกับการเรียนการสอน นำคนจากทุกแผนกมาสอนงานน้อง ๆ

นอกจากนั้น เราให้ความสำคัญกับเรื่อง work-life balance เพราะเชื่อว่าสามารถสร้าง engagement ให้ดีขึ้น และทำให้พนักงานทุ่มเทให้กับการทำงานเพิ่มขึ้นด้วย เราจึงสรรหาสวัสดิการที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เช่น โปรแกรม Happy Wednesday กลับบ้านได้เร็วในวันพุธ ทำงานที่ออฟฟิศสัปดาห์ละ 2 วัน

นอกจากนั้นทำจากที่ไหนก็ได้ เรามีโปรแกรม IPG Recharge ให้หยุดงานทุกวันศุกร์ มีกลุ่มกิจกรรมตามความสนใจของพนักงาน เช่น วาดภาพ ออกกำลังกาย ไปทานอาหารและดื่มร่วมกัน ให้เงินพิเศษกรณีที่มีความรู้ดิจิทัล และที่สำคัญ เส้นทางการเติบโตในองค์กรต้องชัดเจน

ส่วนทักษะที่จำเป็นของคนทำงานด้านการสื่อสารการตลาด จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ soft skills, hard skills และ mindset ดังนั้น soft skills จึงมีความคิดสร้างสรรค์ สื่อสารได้ดี พูดอย่างมั่นใจ และการแก้ปัญหาและตัดสินใจในเรื่องที่ซับซ้อน, hard skills มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะด้านดิจิทัล เป็นต้น

ส่วน AI หรือ ChatGTP เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ สามารถช่วยงานทุกวงการได้ วันนี้ยังมองว่าจะมาแทนที่คน แต่อย่างไรต้องจับตามองการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพราะถ้ามองข้ามจะก้าวไม่ทันองค์กรอื่น

ที่สำคัญ hard skills สามารถสอนได้ แต่ soft skills เป็นสิ่งที่พนักงานมีติดตัว เป็นทักษะเฉพาะตัวของแต่ละคน ขณะที่ mindset ธุรกิจการสื่อสารการตลาดเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง นักการตลาดต้องมีทัศนคติที่ เข้าใจธุรกิจ เข้าใจลูกค้า มี sense of emergency ที่มีความมุ่งมั่น พร้อมจะเรียนรู้ อดทน และเปิดรับสิ่งใหม่

“มาลี” กล่าวทิ้งท้ายว่า HR ยุคนี้นอกจากจะเก่งคน เก่งงาน ต้องเก่งคิดเป็นขั้นเป็นตอนด้วย ต้องไม่เพิกเฉยกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะคนทำงาน HR ยุคดิจิทัลต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และหาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาช่วยให้การทำงานราบรื่น และรวดเร็วขึ้น

“การดึงดูดคนให้อยู่กับองค์กร ต้องทำทุกส่วนไปพร้อมกัน ไม่ใช่สวัสดิการเท่านั้น ผู้บริหารต้องทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นเป็นตัวอย่าง ประเมินผลงานอย่างยุติธรรม มีการรับฟังพนักงานอย่างจริงจัง ทั้งยังต้องมีการพูดอย่างเปิดใจเกี่ยวกับประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเองได้”