มาสเตอร์การ์ดเตรียมฟื้นฟูป่า 1 พันกว่าไร่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

ปลูกป่า

มาสเตอร์การ์ดร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในประเทศไทย เตรียมแผนฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวน 1 พันกว่าไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 2.7 แสนต้นใน 2 ปี 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 มาสเตอร์การ์ดร่วมกับองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในประเทศไทยเตรียมฟื้นฟูพื้นที่ป่าจำนวน 1,031.25 ไร่ (165 เฮกตาร์) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก ครอบคลุมจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดยตั้งเป้าปลูกต้นไม้จำนวน 275,000 ต้นภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่ออนุรักษ์และดูแลระบบนิเวศของผืนป่าในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น 7 แห่งที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขีดความสามารถให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนไปสู่แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนมากขึ้น รักษาแหล่งรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น และจัดหาความรู้และทรัพยากรให้กับชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ผืนป่าในระยะยาว

ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Priceless Planet Coalition (PPC) ของมาสเตอร์การ์ด ที่มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลก โดยอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจและผู้บริโภค 

โครงการ PPC เปิดตัวขึ้นในปี 2563 และได้จับมือกับพันธมิตรทั่วโลกกว่า 100 ราย ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจด้านความยั่งยืน กลุ่มเทคโนโลยีการเงินและฟินเทค และธนาคารชั้นนำระดับโลก ซึ่งรูปแบบการปลูกป่าของโครงการนี้ได้ขยายขอบเขตไปไกลกว่าการปลูกต้นไม้ โดยยังมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูผืนป่าในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสภาพอากาศ ชุมชน และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ

นายซาฟดาร์ คาน ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า โครงการ Priceless Planet Coalition ของมาสเตอร์การ์ด เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเหล่าพันธมิตรที่มุ่งมั่นบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั่วโลก เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผืนป่าแห่งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เราจะต้องเข้าไปฟื้นฟูและอนุรักษ์ และเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักและร่วมฟื้นฟูผืนป่าต่อไป

เป้าหมายของโครงการ PPC คือการปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2568 ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มผลักดันการมีส่วนร่วมในโครงการปลูกป่าทั่วโลก 19 โครงการ โดยร่วมมือกับองค์การนอกภาครัฐ (NGO), องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI) และสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในโครงการล่าสุดของ PPC และเป็นโครงการแรกในเอเชีย-แปซิฟิกที่เริ่มดำเนินการในปี 2566

อย่างไรก็ดี โครงการ PPC ได้ดำเนินงานครอบคลุมหลายพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ เอเชีย-แปซิฟิก (ออสเตรเลีย, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, ไทย, ฟิลิปปินส์), ละตินอเมริกา (บราซิล, โคลอมเบีย, กัวเตมาลา), ยุโรป (ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, สเปน, สกอตแลนด์), ตะวันออกกลางและแอฟริกา (มาดากัสการ์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, เคนยา, มาลาวี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และอเมริกาเหนือ (เม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา)