HR Day 2023 เตือนองค์กรเท่าทันวิกฤตหลายมิติ

สัมมนาใหญ่ด้านเอชอาร์ Thailand HR Day ปี 2023 จัดภายใต้แนวคิด People Management in a Complex World of Paradoxes and Polycrisis ครบทุกเรื่องเพื่อสร้างสมาร์ทเอชอาร์ที่เท่าทันโลกการทำงานและภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป สามารถรับมือวิกฤตหลากหลายมิติ (polycrisis) อย่างเท่าทัน ผ่านการเรียนรู้ 40 หัวข้อ จาก 50 วิทยากร และ 16 กรณีศึกษา พร้อมกับกิจกรรมสร้างเครือข่ายและกระชับความสัมพันธ์ของเครือข่ายนักทรัพยากรมนุษย์

รับมือวิกฤต 6C

สำหรับหัวข้อ Managing the World of Polycrisis and Mindfulness Leadership “ดร.วิรไท สันติประภพ” ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า polycrisis เป็นคำใหม่ที่เพิ่งได้ยินมากขึ้นในช่วงหลัง เพราะโลกซับซ้อนและย้อนแย้งมากขึ้น แต่ไม่ว่าโลกในอนาคตจะวุ่นวายสับสนแค่ไหน การบริหารคนก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

ดร.วิรไท สันติประภพ
ดร.วิรไท สันติประภพ

ในภาวะ polycrisis มีความเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายใหญ่ ๆ ที่คนและองค์กรต่าง ๆ ต้องเผชิญ แบ่งเป็น 6C ได้แก่ 1.climate catastrophe ความหายนะทางภูมิอากาศ ที่ก่อนหน้านี้สหประชาชาติใช้คำว่า โลกร้อน ต่อมาปี 2566 เลขาธิการสหประชาชาติใช้คำว่า โลกเดือด สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของสภาวะอากาศที่รุนแรงมากขึ้น

2.conflicts ความขัดแย้งยกระดับเป็นสงคราม ทั้งสงครามชิป (tech war) สงครามยูเครนก็ยังไม่สงบง่าย ๆ หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ก็มีแนวโน้มขยายความรุนแรงเป็นระดับโลกได้ เป็นวิกฤตที่ห่างไกลกับประเทศไทย แต่สร้างผลกระทบได้

3.changing demographics การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร สิ้นทศวรรษ 20 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคน จาก 8,000 ล้านคน ปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากรจำกัดจะรุนแรงมากขึ้น 4.cyber technology พัฒนาการก้าวกระโดดช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต นำไปสู่ความท้าทาย

5.corrupted value คุณค่าที่ถูกบิดเบือน เช่น คุณค่าและวัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวกำหนดตัวตน แนวทางการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ และ 6.collapse of the center การลดบทบาทศูนย์กลางที่เป็นแกนกลางตัดสินใจ เมื่อพลังเทคโนโลยีเข้ามาอย่างก้าวกระโดด คนมีความเป็นปัจจัย เริ่มแคลงใจในสถาบันหลัก ๆ ทำให้บทบาทของศูนย์กลางลดลงเรื่อย ๆ

“สำหรับการรับมือกับความท้าทาย 6C ต้องกลับมาดูคุณลักษณะของฐานใจ 6 ด้าน คือ หนึ่ง concentration มีสมาธิ ใจจดจ่อกับเรื่องที่กำลังทำ สอง clarity เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็น สาม contentment สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าเจอแรงกดดันแบบใด

สี่ compassion ผู้บริหารต้องสามารถเข้าใจคนอื่น ด้วยความรู้สึกที่เป็นมิตร ด้วยความคิดอยากช่วยเหลือให้ผู้อื่นดีขึ้น เคารพทัศนคติ ความเห็น และข้อจำกัดของคนอื่น ห้า creativity ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นต้องเป็นการหาทางออกที่ทำได้จริง และหก cushioned mind ใจที่มีกันชน รับแรงปะทะได้กับเรื่องกวนใจ”

ศุภจี สุธรรมพันธุ์
ศุภจี สุธรรมพันธุ์

ซีอีโอปรับตัว

“ศุภจี สุธรรมพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ให้มุมคิดในหัวข้อ Managing Organization in the World of Polycrisis : Strategy and the Way Forward for CEO’s & People Leaders ว่า ภายใต้บริบทของ polycrisis ที่เต็มไปด้วยความท้าทายระดับโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลากหลายวิกฤตการณ์เชื่อมโยงถึงกัน เกิดขึ้นพร้อมกัน

ซีอีโอกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน การจัดการองค์กรในห่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ ต้องใช้แนวทางที่หลากหลาย ซึ่งผสมผสานการคิดเชิงกลยุทธ์ ความสามารถในการปรับตัว และความยืดหยุ่น เชิญมารับฟังประสบการณ์ การจัดการวิกฤต และแนวทางการแสวงหาโอกาสเพื่อขับเคลื่อนองค์กร จากทรรศนะของผู้บริหารที่ผ่านการจัดการองค์กรขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม

“เรื่องที่ไทยต้องให้ความสำคัญคือ competitive landscape เพราะตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ แรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีน้อยลง ประเทศไทยมีประชากรลดลง 2-3 ปีติดกัน มีอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตาย ดังนั้น อีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะมีประชากรลดลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านมีอัตราการเกิดสูงขึ้น”

จากผลสำรวจของ Gartner เกี่ยวกับเรื่องที่ซีอีโอให้ความสำคัญในช่วง 2-3 ปีมานี้ (2563-2566) เรื่องแรกคือ การสร้างการเติบโตให้องค์กร ครึ่งหนึ่งของซีอีโอให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่ก็เริ่มลดลงในปี 2564 เรื่องที่สอง เทคโนโลยี ยังสำคัญแต่เปอร์เซ็นต์ความสำคัญก็ลดลง แต่เรื่องของคนกลับได้รับความสนใจจากซีอีโอสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โดยในแง่ของ workforce ซีอีโอหาวิธีให้แรงงานที่มีตอบโจทย์ธุรกิจที่จะไปข้างหน้าได้ และเรื่องที่ 3 ซีอีโอให้ความสำคัญเรื่องคน วัฒนธรรมองค์กร โครงสร้างองค์กร เรื่องสินค้าและบริการ ก็เป็นเรื่องที่ซีอีโอให้ความสำคัญต่อเนื่อง

“ที่ดุสิตธานีจัดหลักสูตรสัมมนาคอนเน็กชั่น ชวนผู้บริหารคอนเน็กชั่นกับตัวเอง ฝึกสติให้สามารถจัดการกับโลกภายนอกที่รุมเร้า การนั่งสมาธิไม่ใช่เรื่องทางศาสนา แต่เป็นการจัดการกับความคิด องค์กรต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมองค์กร เพราะกลยุทธ์ดีอย่างไร แต่วัฒนธรรมองค์กรไม่ดี กลยุทธ์นั้นก็จะไม่ถูกลงมือทำ

สำหรับเรื่องเทคโนโลยี เอชอาร์ไม่ต้องเก่งกาจในการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในงาน เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องรู้ต้องทำอยู่แล้ว แต่เอชอาร์ต้องเข้าใจบริษัท และเอาเทคโนโลยีอะไรมาปรับกระบวนการทำงานให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ขณะที่เรื่องความยากในการหาคน รักษาคน ตอนนี้องค์กรแบนราบ ตำแหน่งหายากขึ้น และถึงทางตัน เพราะสุดท้ายแล้ว มีซีอีโอได้คนเดียว ทำอย่างไรให้คนในทีม engage & motivate ในทางเดินทางอาชีพที่ก้าวไปเรื่อย ๆ โดยไม่เกี่ยวกับตำแหน่งงาน”

ดร.สันติธาร เสถียรไทย
ดร.สันติธาร เสถียรไทย

โลกทับซ้อนย้อนแย้ง

“ดร.สันติธาร เสถียรไทย” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก พูดในหัวข้อ Embracing the World of Polycrisis : Understanding, Preparation, and Resilience Strategies โดยเสนอคำใหม่ polyparadox หมายถึงโลกซับซ้อนที่ไม่ใช่เพราะวิกฤตปัญหาอย่างเดียว แต่มีโอกาสรวมอยู่ เป็นความย้อนแย้งทำให้ชีวิตมันยาก โดยโลกทับซ้อนย้อนแย้ง 4 มิติ ประกอบด้วย

หนึ่ง เทคโนโลยี ไม่ใช่เทคโนโลยีทุกอันแล้วจะเวิร์ก ไม่ใช่ทุกอย่างที่เป็นดิจิทัลแล้วจะเวิร์กในอนาคตเสมอไป การทำสตาร์ตอัพจึงมีปัญหา บริษัทขนาดใหญ่ก็จำต้องลดคน จากที่เคยพูดกันว่า อนาคตไม่ต้องมีออฟฟิศ เพราะมีการทำงานระยะไกล แต่ตอนนี้ทุกคนต้องกลับเข้าออฟฟิศ เพราะวัฒนธรรมองค์กรกำลังพัง

สอง คนหางานไม่ได้ แต่งานก็หาคนไม่ได้เช่นกัน เป็นความย้อนแย้ง ซึ่ง AI ตอบโจทย์เอางานมาช่วยร่นเวลาให้คน ต่อไป AI อาจกลายเป็น IA (intelligence assistant) ผู้ช่วยคนเก่ง แค่พูดสั่งเอาแล้ว AI ทำให้ งานบางอย่างที่คนไม่อยากทำ ก็ให้ AI ทำ เหมือนว่าน่ากลัว แต่ก็เป็นโอกาสมหาศาลในอีกด้านหนึ่ง

สาม ความยั่งยืน ที่คนมองว่าเป็นอนาคต แต่ก็มีการกระชากกลับเหมือนกัน ในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงาน ขณะที่เราพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว แต่มีบางประเทศกลับมาใช้ถ่านหินมากกว่าเดิม เพราะขาดแคลนพลังงาน ถามว่าในอนาคตจะเป็น security หรือ sustainability ส่วนตัวเชื่อว่าความยั่งยืนยังเป็นอนาคต แม้จะถูกดึงไปบ้าง เพราะความกดดัน 3 ทางคือ ESG, ผู้บริโภค และภาครัฐ CBAM

เกี่ยวข้องกับเอชอาร์โดยตรง เพราะ greener economy ต้องการทักษะสีเขียว ซึ่งสำคัญมากกับทุกองค์กร ต้องมีคนที่เข้าใจและวัดความยั่งยืนได้ ต้องเข้าใจ green transportation รู้เรื่อง green finance

สี่ global border อำนาจหรือบารมีเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ทั่วโลก ย้อนไปยุคที่อังกฤษเป็นใหญ่ อเมริกาเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้อเมริกากำลังลดลงเรื่อย ๆ และจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่จีนก็เผชิญหลายปัญหา ผู้นำเศรษฐกิจเลยอยู่ในภาวะสุญญากาศ ที่เกิดความขัดแย้งได้ง่ายมาก