พลังแห่งภาวะผู้นำ สร้างพนักงานขับเคลื่อนองค์กรยั่งยืน

คินเซนทริค (ประเทศไทย) บริษัทชั้นนำในการให้คำปรึกษาด้านบุคลากรและการพัฒนาองค์กร เครือสเปนเซอร์ สจวร์ต จัดทำการวิจัยเทรนด์ประสบการณ์พนักงานจากทั่วโลกประจำปี 2566 เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางการปรับปรุงพัฒนาสำหรับลูกค้าแต่ละองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนากลยุทธ์ด้านการบริหารบุคลากร ผลประกอบการองค์กรโดยรวม รวมถึงการดูแลรักษาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้อยู่กับองค์กร ซึ่งโครงการนี้ครบรอบ 23 ปีในประเทศไทย มีองค์กรเข้าร่วมมากกว่า 100 องค์กรชั้นนำ ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ คินเซนทริคยังระบุถึงเทรนด์ที่เป็นจุดสำคัญของการสร้างพลังในองค์กร ผ่านมุมมองจาก 16 องค์กรที่ได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 โดยคินเซนทริค (Kincentric Best Employers Thailand 2023) ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยหลักที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่ดุเดือดในปัจจุบัน

ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ
ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ

ผู้นำเติมพลังขับเคลื่อนองค์กร

“ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ” กรรมการผู้จัดการและพาร์ตเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากผลวิจัยซึ่งอ้างอิงจากเทรนด์ที่พบกว่า 100 องค์กรชั้นนำในพอร์ตโฟลิโอของคินเซนทริคชี้ให้เห็นว่า การมอบประสบการณ์และให้ความใส่ใจพนักงานอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับวัฒนธรรมองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และขับเคลื่อนโดยผู้นำองค์กร จะช่วยทำให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การทำงานอย่างสม่ำเสมอของพนักงาน มีตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ทั้งในแง่ของผลประกอบการ และความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ผู้นำธุรกิจและองค์กรจะต้องมองหาทุกโอกาสในการสร้างประสบการณ์สำหรับพนักงาน เพื่อสร้างความได้เปรียบ และเป็นตัวช่วยปลดล็อกพลังในการขับเคลื่อนองค์กร

นภัส ศิริวรางกูร
นภัส ศิริวรางกูร

สร้างพนักงานด้วยกลยุทธ์ 3C

“นภัส ศิริวรางกูร” พาร์ตเนอร์ คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี 2566 นับเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้นำในองค์กร เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องคิดหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อรักษาเป้าหมายทางธุรกิจผ่านพนักงานซึ่งเป็นแรงงานสำคัญ จากการสำรวจพบว่ามีพนักงานเพียงร้อยละ 51 เท่านั้นที่เชื่อว่าองค์กรมอบประสบการณ์การทำงานที่เทียบเท่ากับคำมั่นสัญญา เพราะความคาดหวังของพนักงานนั้นเพิ่มขึ้นเสมอ

ทั้งนี้ การมอบประสบการณ์การทำงานที่สม่ำเสมอให้กับพนักงานจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก 3C ได้แก่

หนึ่ง ความสม่ำเสมอ (Consistency) คือหัวใจสำคัญในการสร้างความสนใจในองค์กร และแรงจูงใจให้พนักงานอยู่ต่อ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น ผู้นำองค์กรต้องตื่นตัวในการสร้างประสบการณ์การทำงานที่สม่ำเสมอ และวางใจได้สำหรับพนักงานในทุกมิติ

ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการสูงสุดต่อไป การสร้างประสบการณ์การทำงานเชิงบวกที่สม่ำเสมอในองค์กรสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการสร้างปัจจัยที่มีผลต่อประสบการณ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันเพื่อเชื่อมโยง และสร้างมุมมองประสบการณ์การทำงานให้กับบุคลากรทุกคน

สอง ความเชื่อมโยง (Connectivity) ประสบการณ์ของพนักงานที่สอดคล้องกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันกลยุทธ์ทางธุรกิจ ผู้นำองค์กร รวมทั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบองค์รวมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สม่ำเสมอและแตกต่างให้กับพนักงาน

องค์กรชั้นนำตระหนักดีว่า ประสบการณ์การทำงานที่ดีของพนักงานเกิดขึ้นเองจากปัจจัยด้านกลยุทธ์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ในระยะยาว และสร้างแรงผลักดันในองค์กร โดยปกติแล้วความสนใจในองค์กรจะอยู่ในระดับที่สูงขึ้น เมื่อประสบการณ์ที่ดีของพนักงานสอดคล้องกับวัฒนธรรมและกลยุทธ์ขององค์กร

สาม ความกล้าของผู้บริหารระดับสูง (Courage from the C-Suite) คณะผู้บริหารระดับสูงคือกุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสในการเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีของพนักงานให้เป็นสินทรัพย์ทางธุรกิจ การสร้างประสบการณ์ที่ดีเชื่อมโยงให้แก่พนักงาน เพื่อนำพาไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้นได้ ต้องอาศัยผู้นำที่มีความกล้าหาญ และทุ่มเท

ปรียา สิงห์นฤหล้า
ปรียา สิงห์นฤหล้า

รางวัลเกียรติยศของ “นายจ้าง”

“ปรียา สิงห์นฤหล้า” ผู้จัดการโครงการค้นหาสุดยอดนายจ้างดีเด่นของคินเซนทริค ประจำปี 2566 คินเซนทริค (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า รางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่น คือรางวัลเกียรติยศซึ่งเป็นที่รู้จักดีทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 23 ปี ที่คินเซนทริคจัดโครงการมอบรางวัลให้กับสุดยอดนายจ้างดีเด่นในประเทศไทยมา

เราได้รับความไว้วางใจจากมากกว่า 100 องค์กรทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ และจาก 16 องค์กรที่ได้รับรางวัลในปีนี้ เราวิเคราะห์ 4 พฤติกรรมที่เป็นเครื่องชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ ครอบคลุมหัวข้อการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิผล กลยุทธ์การทำงานที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และความมั่นคงทางการเงิน

โดย 4 พฤติกรรมที่เป็นเครื่องชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจ ได้แก่

หนึ่ง การมีความผูกพันต่อองค์กร (Engagement) พนักงานมีความรู้สึกเชิงบวก และแสดงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับองค์กรในระยะยาว หรือพนักงานแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง

สอง ความคล่องตัว (Agility) พนักงานมองว่าองค์กรมีความสามารถในการปรับตัวสูง มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม การให้ความเคารพในความแตกต่าง และการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปได้

สาม ความเป็นผู้นำ (Engaging Leadership) ผู้นำรักษาความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับพนักงาน สร้างการมีส่วนร่วมต่อองค์กรผ่านการสื่อสารวิสัยทัศน์ของบริษัทอย่างชัดเจน และแสดงให้เห็นถึงคุณค่ารอบด้านที่ผู้นำยึดมั่น

สี่ การให้ความสำคัญกับบุคลากร (Talent Focus) พนักงานเชื่อว่าองค์กรมุ่งมั่นที่จะแสวงหาบุคลากรใหม่ ๆ รวมทั้งรักษาบุคลากรที่มีอยู่ ผ่านการสร้างบรรยากาศในการทำงาน ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ เสริมสร้างการเติบโตของพนักงานทั้งในส่วนตัวบุคคล และในสายงาน

ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้องค์กรสามารถก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ และช่วยให้ผู้นำสามารถสร้างความสำเร็จทางธุรกิจในที่สุด