จับตา MOU ส่งออกแรงงานไทย-ซาอุฯ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

จับตา MOU ส่งออกแรงงานไทย-ซาอุ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?
ภาพจาก pexels

จับตาการเซ็นเอ็มโอยูส่งออกแรงงานไทย คาดอีก 3 เดือนทยอยส่งแบบจีทูจี เน้นตำแหน่งช่างเชื่อม-ช่างไม้-งานภาคบริการ

วันที่ 28 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะ ที่ได้เดินทางถึงกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมเข้าร่วมพิธีลงนามความตกลงด้านแรงงานในวันที่ 28 มีนาคน 2565 เวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ได้เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลที่จะตามมาจากการเซ็น MOU ครั้งนี้

ช่างเชื่อม ช่างไม้ไปซาอุฯ

นายสุชาติ คาดว่าอีก 3 เดือนหลังจากเซ็นแล้วจะเริ่มทยอยส่งแรงงานไปซาอุฯได้ โดยเฟสแรกจะเป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ (Government to Government : G2G) ซึ่งจะเป็นแรงงานกึ่งทักษะ เช่น ช่างเชื่อม, ช่างก่อสร้าง, ช่างไม้, ช่างปูน, ช่างเหล็ก และเชฟทำอาหาร เพราะค่าแรงจะดีกว่าแรงงานไร้ทักษะ

คาดว่าหลังจากซาอุฯมีการตกลงเรื่องเงื่อนไขการดูแลลูกจ้างไทย เช่น ดูแลเรื่องที่พัก, อาหาร, สวัสดิการต่าง ๆ ชัดเจน และมีการเซ็น MOU ร่วมกันระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศแล้ว จะมีแรงงานมาลงทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระทรวงแรงงานยังเปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางาน (ภาคเอกชน) มาร่วมเป็นผู้จัดส่งแรงงานในเฟสต่อ ๆ ไปด้วย

อัตราเงินเดือน

สำหรับอัตราเงินเดือนค่าจ้างในซาอุฯ ถ้าเป็นแรงงานทักษะไร้ฝีมือจะได้ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการไปทำงานตาม MOU ในประเทศฟินแลนด์, สวีเดน, อิสราเอล หรือไต้หวัน อีกทั้งแรงงานไทยมีคู่เปรียบเทียบจากแรงงานอินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, ฟิลิปปินส์ที่ค่าแรงถูกกว่า 30%

ดังนั้น ค่าแรงเฉลี่ยสำหรับแรงงานไทยไร้ทักษะจะอยู่ที่ 17,000-20,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานกึ่งทักษะ 25,500-76,500 บาทต่อเดือน และแรงงานทักษะสูงประมาณ 127,500 บาทต่อเดือน โดยแรงงานไทยที่ซาอุฯต้องการได้แก่ วิศวกร, ช่างไฟฟ้า, ช่างก่อสร้าง, ช่างซ่อมเครื่องยนต์, พนักงานขับรถขนาดใหญ่, พ่อครัวอาหารไทย และอาหารเอเชีย เป็นต้น

ไทย-ซาอุฯ ในอดีต

ทั้งนี้ ในอดีตราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดแรงงานใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในโซนตะวันออกกลาง โดยมีแรงงานไทยไปทำงานถึง 300,000 คน ทั้งยังส่งรายได้กลับเข้ามาประเทศกว่า 9,000 ล้านบาท

แต่หลังจากปี 2533 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้รับผลกระทบจากกรณีการเสียชีวิตของนักการทูตซาอุฯ และการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุฯในไทย ทำให้ซาอุฯหยุดเปิดวีซ่าแรงงานไทยอย่างเป็นทางการ เหลือจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายเพียง 1,345 คน

นับเป็นเป็นโอกาสสำหรับแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือของไทย เพราะซาอุฯกำลังพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ “ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030″ (Saudi Vision 2030) จึงมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนามากมาย ทั้งภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ เทคโนโลยี และก่อสร้าง ทำให้ต้องการแรงงานจากหลายประเทศรวมกว่า 8 ล้านคน