กรมแพทย์แผนไทยฯ แนะ 4 สมุนไพร-ผักต้านภัยฝุ่น PM 2.5

สมุนไพร

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 4 พืชผักสมุนไพรสำหรับดูแลสุขภาพรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 พร้อมวิธีใช้งาน รวมถึงข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคไต ท่อน้ำดีอุดตัน และนิ่วในถุงน้ำดี

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคผิวหนัง ฝุ่น PM 2.5

อย่างไรก็ตาม สมุนไพรหลายชนิดมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสามารถใช้ป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจในภาวะมลพิษได้ เช่นเดียวกับอาการทางผิวหนังรูปแบบต่าง ๆ อย่าง ผื่น ลมพิษ ฯลฯ ที่เกิดจากฝุ่น

ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

สมุนไพรป้องกันทางเดินหายใจ-ผิวหนัง

สำหรับป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจในช่วง PM 2.5 นั้น สามารถใช้สมุนไพร เช่น หญ้าดอกขาว, รางจืด, มะขามป้อม, ขมิ้นชัน เช่นเดียวกับอาหาร-เครื่องดื่มที่ปรุงจากขิง และบร็อกโคลี่ รวมไปถึงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พืชผักผลไม้หลากสี

ส่วนอาการทางผิวหนังมักจะมีสาเหตุที่มาจากการแพ้ฝุ่น อาการผด ผื่น คัน ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ต้านการอักเสบของผิวหนัง ช่วยฆ่าเชื้อโรค เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เช่น ว่านหางจระเข้ บัวบก โลชั่นพญายอ

ด้านอาการผิวหนังอักเสบ ลมพิษ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลู และขี้ผึ้งพญายอ หากผิวแห้งใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ บัวบก ขมิ้นชัน

อาการผิวหนังอักเสบ ลมพิษ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลู และขี้ผึ้งพญายอ หากผิวแห้งใช้โลชั่นที่มีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ บัวบก ขมิ้นชัน ที่สำคัญไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

แนะผู้มีโรคประจำตัวจะใช้งานต้องระวัง

สำหรับการใช้งานนั้น ดร.ภญ.ดวงแก้ว ปัญญาภู รองผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า ชาหญ้าดอกขาวดื่มหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง เมื่อมีอาการระคายเคืองทางเดินหายใจจากภาวะฝุ่น PM 2.5 แต่มีข้อควรระวังเนื่องจากในหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไตต้องใช้อย่างระวัง

รางจืด โดดเด่นเรื่องการแก้พิษ ล้างพิษ สามารถนำมาใช้ได้ 2-3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ทั้งนี้ ผู้ป่วย ตับ ไต ควรใช้อย่างระมัดระวัง

ส่วนมะขามป้อมมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบ การระคายเคือง บรรเทาอาการไอ รับประทานได้ทั้งแบบผลสด ผลแห้ง และชาชงขมิ้นชัน มีสารเคอร์คิวมิน สามารถป้องกันการทำลายเซลล์ ระบบทางเดินหายใจ โดยรับประทานขมิ้นชันในช่วงที่มีมลพิษทางอากาศได้ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3-4 ครั้ง แต่ต้องไม่เกิน 9 กรัม/วัน และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีท่อน้ำดีอุดตัน และนิ่วในถุงน้ำดี

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0-2149-5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM