การบินไทย แจ้งคณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างควบรวม “ไทยสมายล์” 

การบินไทยควบรวมไทยสมายล์

“การบินไทย” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นชอบแผนปรับโครงสร้างควบรวมไทยสมายล์ ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารนำเสนอ เผยภายหลังการปรับโครงสร้างบินไทยจะเป็นผู้บริหารจัดการ วางแผนฝูงบิน บริหารตารางเวลาบิน พร้อมวางแผนเครือข่ายเส้นทาง ภายใต้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินทางอากาศของการบินไทย คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2566

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินว่า ด้วยคณะกรรมการเจ้าหนี้ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มการบิน ตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารนำเสนอ กล่าวคือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของหุ้นทั้งหมด

การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารภายใต้ไทยสมายล์ย้ายมาบริหารจัดการภายใต้บริษัทการบินไทย ซึ่งการปรับโครงสร้างครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ ตามข้อ 5, 7, 2 ของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 และต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยการบินไทย คาดว่าการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2566

โดยปัจจุบันไทยสมายล์ให้บริการภายใต้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินทางอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) แยกกับบริษัทการบินไทย ส่งผลให้ไทยสมายล์เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางการบินที่ให้บริการแยกจากการบินไทยอย่างชัดเจน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการบริหารจัดการฝูงบินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การแข่งขันในตลาด 

อีกทั้งการแข่งขันด้านราคาที่เพิ่มมากขึ้นในเส้นทางระยะสั้นจากผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งให้บริการในราคาที่ต่ำกว่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยสมายด์อีกด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทการบินไทยจะเป็นผู้บริหารจัดการการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบิน การบริหารตารางเวลาบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการของฝูงบินของการบินไทยและไทยสมายล์ ภายใต้ AOC ของการบินไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจการบินในหลายด้านดังต่อไปนี้

1.การให้บริการภายใต้ AOC เดียวจะเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดเครือข่ายเส้นทางบิน ตอบสนองความต้องการและความสะดวกของลูกค้าในการเชื่อมต่อได้มากขึ้น เนื่องจากการบินไทยมีเส้นทางบินที่สามารถให้บริการได้มากกว่า และการสับเปลี่ยนอากาศยานให้สอดคล้องกับระยะทางบินและความต้องการของตลาดผ่านการบริหารจัดการอากาศยานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างอากาศยานลำตัวแคบ ซึ่งเดิมให้บริการโดยไทยสมายล์ และอากาศยานลำตัวกว้างซึ่งให้บริการโดยการบินไทย ซึ่งจะเป็นผลให้การบินไทยมีอัตราการใช้ประโยชน์อากาศยานสูงขึ้นและมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง (Economy of Scale) 

2.สร้างความเป็นเอกภาพในตราสินค้าของการบินไทยและไทยสมายล์ และขจัดความไม่ชัดเจนของตำแหน่งทางการตลาดระหว่างกลุ่มธุรกิจการบิน โดยการให้บริการและการบริหารการดำเนินงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้บริษัทการบินไทย อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการสื่อสารด้านการตลาด ส่งผลให้การบินไทยสามารถลดต้นทุนการขายในด้านค่าสื่อสารการตลาด มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน

3.ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการปฏิบัติการบินในส่วนของนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบินและทรัพยากรด้านต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลให้การบินไทยมีความสามารถในการบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การปรับโครงสร้างจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการให้บริการต่อผู้โดยสารของสายการบินไทยสมายล์แต่อย่างใด เนื่องจากบุคลากรของไทยสมายล์ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร พนักงาน นักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน รวมทั้งการให้บริการผู้โดยสารจะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทการบินไทย อีกทั้งการบินไทยได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลและผลกระทบด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการเงิน ด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และด้านกฎหมายแล้ว ได้ข้อสรุปว่าการปรับโครงสร้างของกลุ่มการบินไทยสามารถบรรลุผลตามแผนฟื้นฟูและแผนการปฏิรูปธุรกิจได้

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นการทำรายการได้มาหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์การทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มา หรือจำหน่ายซึ่งสินทรัพย์ ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2547 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) 

และไม่ถือเป็นรายการที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ที่ ทจ. 21/2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2551 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจะทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)