เดดล็อก “การเมือง-ธุรกิจ” ตลาดหุ้นซึมหนัก-แห่เลื่อน IPO

เลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 3 ความไม่แน่นอนลากยาว หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP เผยเลือกตั้งมา 3 เดือน ยังไม่เห็นหน้ารัฐบาล กังวลเศรษฐกิจไทยไม่มี Engine of growth ซีอีโอคาราบาวกรุ๊ป ชี้ปัจจัยการเมือง ทุบซ้ำกำลังซื้อทั่วประเทศ ธุรกิจต่างจังหวัดไปไม่รอดปล่อย “เช่า-เซ้ง” พรึ่บ ขณะที่ตลาดหุ้นซบหนัก บรรยากาศลงทุนไม่เอื้อ “ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส” เลื่อนแผนขายหุ้นไอพีโอยาวไปปี 2568 วงในชี้ตลาดทุนป่วน หลายบริษัททบทวนแผนระดมทุนขายหุ้นไอพีโอ ค้าส่งรายใหญ่ของอุดรฯ โอดการค้าทรุดหนัก ประชาชนมีแต่หนี้ IRC ปรับแผนลงทุนปี’67 ลดเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาลงมติรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 2 ไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ทำให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประกาศเลื่อนการพิจารณาเลือกบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 สิงหาคมออกไป เป็นหลังวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งนอกจากทำให้กระบวนการเลือกนายกฯล่าช้าออกไป ยังทำให้สมการขั้วรัฐบาลมีความไม่แน่นอนและไม่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีการวิเคราะห์ว่ากว่าที่ประเทศไทยจะได้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่อาจต้องลากยาวไปถึงเดือนกันยายน

ความไม่แน่นอนลากยาว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ต้องเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ออกไป ยิ่งเห็นถึงความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้น เพราะวันนี้ยังไม่รู้เลยว่า ใครจะมาเป็นขั้วรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร แล้วทิศทางนโยบายจะไปทางไหน เนื่องจากปัจจุบันมีความไม่แน่นอนเต็มไปหมด ซึ่งหากยืดเยื้อออกไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้

ทั้งนี้ คนจะกลัวอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1.ตั้งรัฐบาลไม่ได้สักที ลากยาวออกไป จะทำให้ทุกอย่างดีเลย์ออกไปเรื่อย ๆ ในมุมเศรษฐกิจ ทั้งการบริโภค การลงทุนก็จะหยุดหมด ใครจะลงทุนวันนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร ทั้งรัฐบาล ทั้งเอกชน เกียร์ว่างกันหมด และ 2.หากมีการแทรกแซงทางการเมืองมาก ๆ ก็น่ากังวลว่าจะมีการประท้วงที่รุนแรงขึ้น

“ถ้าเป็นภาพปัจจุบันยังเป็นการเล่นตามเกมกันอยู่ อาจจะมีคนไม่พอใจ ไปกดดันพรรคเพื่อไทยบ้าง แต่คิดว่าม็อบก็คงไม่รุนแรงมาก แต่ถ้าไปถึงขั้นยุบพรรค หรือทำอะไรที่คนรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมมากขึ้น ม็อบก็อาจจะจุดติดก็ได้”

นักลงทุนต่างชาติสับสน

ส่วนภาพที่เริ่มเห็น ธุรกิจที่เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นชะลอแผนออกไป ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ช่วงนี้นักลงทุนจะค่อนข้างสับสนมาก เพราะบางวันก็คิดว่าจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แต่พอมาอีกวันสถานการณ์ก็เปลี่ยนอีก ขณะที่ดัชนีหุ้นก็ขึ้นลงไปตามสถานการณ์ ความไม่แน่นอนนี้สะท้อนว่า มีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองมากเกินไป ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน

“โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ เขาต้องการอะไรที่สามารถวิเคราะห์ได้ คาดการณ์ได้ แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรที่วิเคราะห์ได้ ต้องมีข้อมูลวงในอย่างเดียวว่าเขาตกลงอะไรกัน เพราะมันไม่สามารถสรุปลงไปได้ว่า ฝั่งนี้ชนะเลือกตั้ง ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องเป็นคนนี้ แล้วนโยบายจะเป็นแบบนี้ คือตอนนี้พูดอะไรไม่ได้เลย เราเลือกตั้งกันมาจะ 3 เดือนแล้ว” ดร.พิพัฒน์กล่าว

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้น่ากังวล เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวกลับมาเต็มที่แล้ว ก็ไม่มีอะไรที่จะมาสร้างการเติบโต ดังนั้นหากยังไม่มีรัฐบาล ทุกอย่างก็จะยิ่งช้าออกไป

กำลังซื้อทั่วประเทศทรุด

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้าออกไปนั้น ค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงว่า บริบทของสังคมไทยค่อนข้างมีความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีกฎกติกาที่อาจจะเรียกว่า “ค่อนข้างจะบิดเบี้ยว” จึงทำให้ทุกอย่างยากไปหมด

และแน่นอนว่าผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น ก็ย่อมนำมาสู่ผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของคนในประเทศ ทั้งที่ในช่วงปลายปีกำลังซื้อควรจะดีกว่านี้ แต่ตอนนี้กำลังซื้อทั่วประเทศลดลง จะเห็นได้จากบรรดาธุรกิจในต่างจังหวัดก็มีการให้เซ้งและให้เช่ากันมาก ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสถานการณ์โควิดด้วย ที่ทำให้ดำเนินธุรกิจไปได้ยาก

ขณะเดียวกัน ปีนี้ต้องยอมรับว่าเจอผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีด้วย ไม่เคยเห็นโลกตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสูงมาก อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจต้องมอนิเตอร์และเรียนรู้กันต่อไป เพราะเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ก็ยอมรับว่าเป็นปีที่เหนื่อย

เลื่อนไอพีโอ CJ Express

ขณะที่นายวีรธรรม เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด หรือ CJ Express กล่าวว่า “ความคืบหน้าของแผนการนำบริษัทเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น จริง ๆ ยังอยู่ในแผนตามปกติ เพียงแต่อาจจะล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม

โดยเดิมบริษัทมีแผนจะไอพีโอในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 แต่มีความจำเป็นต้องเลื่อนไปก่อนจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย โดยคาดว่าจะมีการยื่นไฟลิ่งใหม่ในปี 2567 และคาดว่าจะนำบริษัทไอพีโอได้ในช่วงปี 2568 ซึ่งตอนนั้นเชื่อว่าภาวะตลาดหุ้นน่าจะกลับมาปกติแล้ว”

“เราทำงานร่วมกับบริษัทผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน จนจบเอกสารครบทั้งหมดแล้ว มาตรฐานบัญชีเป็นแบบใหม่เรียบร้อยแล้ว คือในแง่ธุรกิจบริษัทมีความพร้อมเต็มที่ เพียงแต่จากการมอนิเตอร์หุ้นไอพีโอที่ผ่านมา ไม่มีใครรอดเลย เราจึงค่อนข้างเป็นกังวลถ้าจะเข้าไปช่วงนี้ จึงขอเลื่อนไปก่อน”

ทบทวนแผนไอพีโอ SCGC

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวว่า สำหรับแผนการขายหุ้นไอพีโอของ บมจ.เอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของเอสซีจี เบื้องต้นคณะกรรมการ (บอร์ด) ของทั้ง SCC และ SCGC จะมีการประชุมในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2566 เพื่อพิจารณาทบทวนแผน ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเลื่อนแผนการขายหุ้น IPO ออกไปจากกำหนดการเดิมหรือไม่ โดยตามแผนเดิมจะไอพีโอประมาณช่วงไตรมาส 4/2566

“หาก SCGC ไม่สามารถขายหุ้น IPO ได้ตามแผนในเดือน ต.ค. 2566 และเข้าซื้อขายวันแรกได้ทันในไตรมาส 4/2566 ก็จะต้องมีการยื่นไฟลิ่งเพื่อขออนุญาตขายหุ้นไอพีโอจากสำนักงาน ก.ล.ต.ใหม่อีกครั้ง แต่คงต้องเว้นระยะเวลาไปสักพักหนึ่งก่อน ถึงจะกลับมา“ปีนี้เจอสถานการณ์กดดันทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจยังมีความท้าทายสูง ดูแล้วยังไม่ง่าย มีปัจจัยเสี่ยงเยอะ ล่าสุดเฟดเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ ภาคธุรกิจต้องมีความระมัดระวังและเข้มงวดค่อนข้างมาก”

ตลาดทุนป่วน ขายหุ้นไอพีโอ

แหล่งข่าวที่ปรึกษาทางการเงินและรับประกันการจำหน่ายหุ้นไอพีโอกล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปีการระดมทุนหุ้นไอพีโอต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น อย่างเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 หุ้น KCG (บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น) เข้าไป ผลงานก็ไม่ดี ทำให้นักลงทุนมีความกังวล แม้จะเป็นของดี คือไม่ใช่หุ้นใหญ่ แต่เป็นบริษัทที่ค่อย ๆ โตไปได้เรื่อย ๆ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะโดนกดดันจากภาพรวมดัชนี SET Index ที่ลดลงหนักด้วยเอฟเฟ็กต์จากประเด็นทางการเมือง

“เชื่อว่าหุ้นไอพีโอตัวต่อไปต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น อาจจะต้องตั้งราคาที่ดิสเคานต์มากขึ้น ประกอบกับต้องดูจังหวะให้การเมืองนิ่งด้วย”

สำหรับดีลไอพีโอในมือมีอยู่ 2 บริษัท ที่จะเข้าเทรดภายใน 2 เดือนนี้ ซึ่งกำลังรอผลสำรวจความต้องการซื้อ (book building) จากนักลงทุนสถาบัน ถ้ามีความสนใจจองซื้อล้น หรืออย่างน้อยมีการจองเกิน 2 เท่าครึ่ง ก็จะยังเดินหน้าขายหุ้นไอพีโอต่อ แต่ถ้าไม่ถึงตามที่คาดหวังอาจจะเลื่อนไอพีโอไปปี 2567 แทน

“ช่วงนี้ภาวะตลาดหุ้นไม่ดีจริง ๆ ถ้าใครจะเอาชัวร์ คงต้องเลื่อนแผนไอพีโอ อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย”

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงวันที่ 3 ส.ค.พบว่า มีบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จำนวน 7 บริษัท ที่ซื้อขายวันแรกแล้วราคาต่ำกว่าราคาจองซื้อไอพีโอ ประกอบด้วย 1.PQS -4.17% 2.PLT -18.71% 3.GABLE -6.10% 4.TPL -32.73% 5.BLC -31.43% 6.PHG -22.38% และ 7.KCG -2.35%

ยันฮีชะลอแผนผลิต “น้ำกัญชา”

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลยันฮี กล่าวว่า ปัจจัยทางการเมืองก็อาจจะมีผลกระทบ โดยเฉพาะหากเกิดการชุมนุมประท้วง หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เหมือนสมัยก่อน ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งก็จะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวหายไปได้

อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลมีการวางแผนตามสถานการณ์ไว้แล้ว เช่น ชะลอการผลิตและการทำตลาดน้ำกัญชาผสมวิตามินไว้ก่อน เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายของรัฐบาล หรือหากเศรษฐกิจ ก็อาจจะเพิ่มกำลังคน หรือเพิ่มโอทีให้สอดคล้องกัน เรียกว่า “ถ้าการเมืองนิ่ง เราทำงานได้สะดวก ถ้าการเมืองไม่นิ่ง เราก็ทำงานยากขึ้น”

ตั้งงี่สุนโอดการค้าทรุดหนัก

นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ค้าส่งรายใหญ่ จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลที่เลื่อนออกไป เหมือนทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศไทยหยุดลง ภาคธุรกิจการค้าทรุดตัวลงไปมาก แม้จะมีข่าวว่าเศรษฐกิจยังคงดี เดินหน้าต่อได้ เมื่อย้อนถึงสาเหตุหลัก ล้วนมาจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่มาจากหนี้ครัวเรือน กระแสข่าวยึดรถก็ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทุกอย่างแพงขึ้นหมด สารพัดปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามา ขณะที่นักการเมืองยังเล่นเกมกันอยู่

ฉะนั้น มีอยู่อย่างเดียวที่ผู้ประกอบการธุรกิจอยากได้ตอนนี้คือการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด ใครก็ได้รีบขึ้นมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศได้แล้ว

“ความไม่ชัดเจนทางการเมืองของประเทศไทย และถ้ายังเป็นแบบนี้เศรษฐกิจประเทศเราไม่น่ารอด”

ฉะเชิงเทราซบเซาเล็กน้อย

นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เรื่องการเลื่อนโหวตนายกฯเป็นสิ่งที่เราคาดเดาไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณ ก็คิดว่าจะมีผลต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศไทย เพราะตอนนี้ก็มีหลายโครงการในจังหวัดที่รออนุมัติงบประมาณ เศรษฐกิจในจังหวัดก็อาจจะซบเซาเล็กน้อย

ธุรกิจแตะเบรกแผนลงทุน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า เรื่องสำคัญอยู่ที่การทำการเมืองให้นิ่ง มีเสถียรภาพ

“นักธุรกิจอาจจะต้องชะลอหรือปรับแผนการลงทุนใหม่ ๆ รอดูความชัดเจน ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องการเมือง แต่ยังมีปัจจัยจากสถานการณ์การชะลอตัวเศรษฐกิจของโลก จากการขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง กำลังซื้อและความต้องการสินค้าลดลง ผลกระทบจะค่อย ๆ ทยอยออกมาให้เห็น”

สอดคล้องกับ นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เอกชนมีความกังวลหากฟอร์มทีมรัฐบาลช้า จะทำให้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศจะเกิดได้ช้า โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การส่งออก และการลงทุนจากต่างชาติทำให้นักลงทุนต้องศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งยากจะคาดการณ์ว่าผลการศึกษาใหม่จะเหมือนเดิมหรือไม่

เสียโอกาสดึงลงทุนต่างชาติ

นางพิมพ์ใจกล่าวว่า แน่นอนว่านักลงทุนก็ต้องเปรียบเทียบโอกาสระหว่างการลงทุนในไทยและประเทศคู่แข่งอื่น และยังมีแฟกเตอร์อื่นมาเทียบกันอีก ไทยมีจุดดีในแง่ที่คนไทยเป็นชาติที่มีมิตรภาพที่ดีต่อนักลงทุน แต่นักลงทุนต้องเปรียบเทียบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งต่างก็มีจุดอ่อนจุดแข็งที่แตกต่างกัน อย่างเช่น มาเลเซีย มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภค ไม่แพ้ไทย ส่วนในอุตฯยานยนต์อินโดนีเซียน่ากลัวที่สุด เป็นแหล่งวัตถุดิบนิกเกิล และยังเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับการลงทุนผลิตอีวี เป็นต้น

“หากไทยล่าช้าหรือไม่ชัดเจนก็อาจจะเสียโอกาสในการดึงดูดการลงทุนได้ ซึ่งความไม่ชัดเจนของเราก็จะเป็น nagative factor ในการพิจารณาการลงทุนจากต่างประเทศแน่ เพราะหากนโยบายไม่ชัด กำลังซื้อตลาดก็ไม่แน่นอน การลงทุนต้องระมัดระวังจากเดิม”

IRC ปรับแผนลงทุนลดเสี่ยง

นางพิมพ์ใจกล่าวว่า ในส่วนบริษัทได้ทำการศึกษาแผนการลงทุนปีนี้จบไปแล้ว แต่หากมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เช่น ค่าแรงงาน 600 บาทออกมา ก็จะต้องเปลี่ยนแผน มาพิจารณาโอกาสความเป็นไปได้ของการลงทุนใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่เคยคิดว่าเป็นไปได้ ก็ต้องคิดใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็กระทบต่อการตัดสินใจ ต้องเลื่อนไปโดยธรรมชาติ เพราะเงื่อนไขก่อน-หลังเลือกตั้งไม่เหมือนกัน

“แผนลงทุนในครึ่งปีหลังเราคงยังไม่ปรับ แต่ปีหน้าเราปรับ เพราะต้องดูว่ารัฐบาลจะวางแนวนโยบายอย่างไร ซึ่งจากเดิมอาจวางแผนว่าจะลงทุนในประเทศเท่านี้ และลงทุนต่างประเทศเท่านี้ ก็อาจจะแบ่งพอร์ตไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพื่อบริหารต้นทุน ในแหล่งที่สามารถบริหารต้นทุนได้ เรื่องไฟแนนซ์ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเรา แต่เรื่องใหญ่ของเราคือเรื่องโอกาสการลงทุน”

เอกชนรอแผน “โอเพ่นดาต้า”

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ TARAD.com กล่าวว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นโยบายหลายอย่างไม่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมามีโปรเจ็กต์หลายอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นได้ และพรรคก้าวไกลได้เข้าไปคุยกับคนในวงการเทคโนโลยีมากมาย ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังและความพร้อมที่จะต่อยอด แต่เมื่อมีความไม่ชัดก็ไม่แน่ใจว่าจะไปต่ออย่างไร

“สมาคมด้านดิจิทัลหลายแห่งได้เข้าไปคุยกับพรรคก้าวไกล ในสิ่งที่จะทำร่วมกัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างหยุด โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก็ต้องรอดูท่าทีว่าใครจะมาเป็นผู้นำ สิ่งที่ก่อนหน้านี้เห็นชัด แต่วันนี้ต้องหยุดไว้ก่อนคือ เรื่องการเปิดดาต้าภาครัฐ เป็นนโยบายข้อมูลที่ค่อนข้างดี คือการทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน เช่น การศึกษา แพลตฟอร์มการเรียนรู้ ความโปร่งใสของการประชุมในสภา บริการภาครัฐทุกอย่างทำได้ผ่านมือถือ มีเอไอจับโกง ด้านสาธารณสุข และคมนาคมระบบตั๋วร่วม เป็นต้น”

ด้านนายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล แสดงความเห็นว่า นักธุรกิจทุกคนต้องการให้การเมืองนิ่ง ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม เพราะจะได้รู้ว่าธุรกิจควรเดินหน้าต่ออย่างไร ถ้าการเมืองไม่นิ่ง ใครเป็นรัฐบาลถ้าอยู่ได้แค่ 2 ปี เลือกตั้งใหม่ก็เท่ากับว่าต้องมาเริ่มกันใหม่อีก ภาคธุรกิจก็คงไม่กล้าลงทุนทำอะไรมากนัก ส่งผลให้การใช้จ่ายมีปัญหา

“สิ่งที่อยากบอกภาครัฐคือ ถ้าทุกอย่างเริ่มนิ่ง ควรเร่งนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และกระจายบริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่าง ThaiD ทำให้การยืนยันตัวตนเร็วขึ้น ทุกคนเข้าใจอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีใช้งานได้ รอคนที่มีวิสัยทัศน์มาจัดการ ใครมาก็ได้ มาชี้มาสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐเดินต่อ จะทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าไป ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลมีการพูดถึงนโยบายโอเพ่นดาต้าภาครัฐ จะมีการเปิดให้ใช้ข้อมูล ซึ่งคนในวงการไอทีเทคโนโลยีมองว่าจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ใช้กระดาษน้อยลง และการกระจายตัวของบริการต่าง ๆ ทำได้เร็ว”

หลังเลือกตั้ง SET ดิ่งแดนลบ

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) นับตั้งแต่ภายหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. จนถึงปัจจุบัน (15 พ.ค.-3 ส.ค. 2566) พบว่า ดัชนี SET Index ปิดตลาดเย็น “ดิ่งในแดนลบ” รวมแล้วทั้งหมด 30 วัน โดยลดลงหนักสุดคือเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ดัชนี SET ดิ่งกว่า 21.27 จุด ลดลง 1.37% จากดัชนีวันก่อนหน้า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ ที่มีการเลื่อนโหวตนายกฯรอบ 2

ขณะที่ดัชนี SET Index เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 เป็นวันที่ลงไปทำจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,466.93 จุด โดยวันนี้ปรับตัวลดลง 11.17 จุด หรือ -0.76% จากดัชนีวันก่อนหน้า

ทั้งนี้ ระยะเวลาตั้งแต่ 15 พ.ค.-3 ส.ค. 2566 พบว่านักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิ รวมทั้งสิ้น 55,336.19 ล้านบาท