เมื่อสหรัฐเล็ง “แซงก์ชั่น” จีน ป้องปรามบุก “ไต้หวัน”

สหรัฐเล็งแซงก์ชั่นจีน
คอลัมน์​ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อก่อให้เกิดสิ่งอื่น ๆ ตามมา หนึ่งในนั้นคือความกลัวจากฟากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ว่าจีนจะเลียนแบบรัสเซียด้วยการรุกรานไต้หวัน และดูเหมือนฝ่ายสหรัฐจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในการสนับสนุนและปกป้องไต้หวัน เริ่มจากนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันแบบไม่คาดหมาย ทำให้จีนโกรธเคืองอย่างมาก ถึงกับซ้อมรบหลายวันรอบเกาะไต้หวันเพื่อตอบโต้ กระนั้นก็ตามหลังจากนางเพโลซี ก็มีสมาชิกคองเกรสอีกหลายคนไปเยือนไต้หวัน โดยไม่สนใจคำขู่จีน

ล่าสุดนี้มีรายงานว่าสหรัฐกำลังพิจารณาออก “แพ็กเกจแซงก์ชั่นจีน” เพื่อยับยั้งขัดขวางไม่ให้จีนรุกรานไต้หวัน ข้อมูลนี้ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่สหรัฐคนหนึ่ง และจากเจ้าหน้าที่จากประเทศ ที่ติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐเริ่มมีการพูดคุยเรื่องแซงก์ชั่นจีน หลังจากรัสเซียบุกยูเครนใหม่ ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่หยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องเร่งด่วน หลังจากจีนแสดงปฏิกิริยาต่อการเยือนไต้หวันของนางเพโลซี

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดการแซงก์ชั่น เพียงแต่อยู่ในขั้นต้นเพื่อพิจารณาทางเลือก แต่แนวคิดก็คือการแซงก์ชั่นจะไปไกลกว่าการจำกัดการค้าและลงทุนบางอย่างกับจีนในเรื่องอ่อนไหว เช่นเทคโนโลยีและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่สหรัฐบังคับใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว

รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันยอมรับว่าได้พูดคุยกับสหรัฐ ยุโรป และประเทศต่าง ๆ ที่มีแนวคิดเดียวกัน เกี่ยวกับเกมสงครามจากจีนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าเป็นความท้าทายใหญ่หลวงต่อไต้หวัน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ให้ข้อมูลว่า ไต้หวันได้เสนอต่อเจ้าหน้าที่ยุโรปให้พิจารณาแซงก์ชั่น จีน หลังจากรัสเซียรุกรานยูเครน

แต่การที่จีนซ้อมรบเพื่อตอบโต้การเยือนของนางเพโลซี ทำให้จุดยืนไต้หวันแข็งกร้าวขึ้น และเรียกร้องต่อยุโรปอย่างเข้มข้นมากขึ้น ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในการแซงก์ชั่น เพราะสมุดปกขาวของจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยกเลิกคำสัญญาที่ว่าจะไม่ส่งทหาร หรือรัฐบาลเข้าไปในไต้หวันหากจีนเข้าควบคุมไต้หวัน

ทั้งนี้ ไต้หวันไม่ได้ขออย่างจำเพาะเจาะจงให้ยุโรปต้องใช้มาตรการใด เพียงแต่ขอให้ยุโรปวางแผนว่าจะใช้มาตรการใดหากถูกจีนบุก ทั้งนี้ ที่ผ่านมายุโรปหลีกเลี่ยงการแซงก์ชั่นจีนแบบเข้มข้นจากปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจยุโรปมากกว่ารัสเซีย

“ซานัก นิกักตาร์” อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ในการแซงก์ชั่นจีน เพราะจีนเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานโลก ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงมากที่สุด “การจะแซงก์ชั่นจีนจะซับซ้อนกว่าการแซงก์ชั่นรัสเซียมาก เพราะสหรัฐและพันธมิตรเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจจีนอย่างกว้างขวาง”

ทางด้าน โรเบิร์ต แฮเบ็ก รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนี เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังจัดทำนโยบายการค้าใหม่กับจีน เพื่อลดการพึ่งพาจีนทั้งด้านวัตถุดิบต่าง ๆ แบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ จากนี้ไปจะไม่มีความไร้เดียงสาอีกแล้ว เยอรมนีต้องเปิดรับคู่ค้าใหม่ ๆ ในภูมิภาคใหม่ ๆ เพราะหลายเซ็กเตอร์ของเยอรมนีพึ่งพิงตลาดส่งออกจีนมากเกินไป

ขณะเดียวกัน เยอรมนียังต้องการตรวจสอบการลงทุนของจีนในยุโรปมากขึ้น แฮเบ็กเห็นว่ายุโรปไม่ควรสนับสนุนโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ที่มี
เป้าหมายจะซื้อโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ในยุโรปและสร้างอิทธิพลด้านนโยบายการค้า เขาคัดค้านกรณีจีนวางแผนจะซื้อหุ้นบริษัทประกอบกิจการตู้คอนเทนเนอร์ในท่าเรือฮาเฟน แฮมเบิร์กของเยอรมนี ท่าทีของแฮเบ็กส่งสัญญาณให้เห็นความกังวลต่อการเทกโอเวอร์ของจีนที่ขยายวงมากขึ้น นอกเหนือจากเซ็กเตอร์เทคโนโลยี โดยเข้าสู่เซ็กเตอร์อื่นด้วย เช่นโลจิสติกส์

“ผมอยู่ในข้างที่จะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมนีกล่าว และว่าพร้อมกันนี้จะไม่ปล่อยให้จีนบิดเบือนการแข่งขันด้านการค้า และไม่ยั้งมือที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นสิทธิมนุษยชน แม้จีนจะนำเรื่องธุรกิจมาขู่ก็ตาม “เราจะไม่ยอมให้ตัวเองถูกแบล็กเมล์”

ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของเยอรมนี มูลค่าการค้าอยู่ที่ 2.45 แสนล้านยูโร ในปี 2021