นักเศรษฐศาสตร์รุมหั่นคาดการณ์ GDP จีน มองปัจจัยลบรุมเร้าไม่จบง่าย

เศรษฐกิจจีน
โครงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (ภาพโดย Tingshu Wang/ REUTERS)

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2023 และปีถัดไปจะเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก และยังมีปัจจัยลบอื่น ๆ รุมเร้า ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นหนี้ท่วม ไม่มีเงินจะกระตุ้นเศรษฐกิจ

วันที่ 12 กันยายน 2023 สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า จากการสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์โดยรอยเตอร์ล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจมองว่า เศรษฐกิจจีนปี 2023 และปีถัดไปจะเติบโตน้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก 

ผลการสำรวจของรอยเตอร์ ซึ่งสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์-นักวิเคราะห์ 76 คน ทั้งในและนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ระหว่างวันที่ 4-11 กันยายนที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5.0% ในปีนี้ (ช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง 4.5% ถึง 5.5%) ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่คาดว่าจะโต 5.5% 

หลังจากที่เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ 6.3% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าในไตรมาส 3 นี้จะเติบโตได้เพียง 4.2% และไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะโต 4.9% แล้วจะลดลงเหลือเพียง 3.9% ในไตรมาสแรกของปี 2024 

ภาพรวมในปี 2024 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงเป็นโต 4.5% และจะชะลอลงเป็นโต 4.3% ในปี 2025 

นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดปรับลดแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้และปีหน้าลงจากการสำรวจครั้งก่อน แต่ขนาดของการปรับลดยังคงไม่มากนัก ทำให้ยังเหลือพื้นที่สำหรับการปรับลดเพิ่มได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 

นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า เศรษฐกิจจีนอาจพลาดเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลที่ตั้งเป้าปีนี้ไว้ประมาณ 5% เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลางของจีนไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ

เศรษฐกิจจีน
โครงการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (ภาพโดย Tingshu Wang/ REUTERS)


ทั้งนี้ อย่างที่เป็นข่าวมาต่อเนื่องหลายเดือนว่า ประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกกำลังดิ้นรนกับการฟื้นตัวหลังจากที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดีในช่วงสั้น ๆ หลังสิ้นสุดมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ก่อนจะสูญเสียโมเมนตัมในไตรมาส 2 ของปี 

เศรษฐกิจจีนถูกฉุดรั้งด้วยหนี้ก้อนใหญ่จากการโหมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมานานหลายทศวรรษ และการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเศรษฐกิจโลกด้วย

แม้ว่าจะมีข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า จีนจำเป็นต้องมีการสนับสนุนนโยบายเพิ่มเติมสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังป่วยไข้ ซึ่งภาคส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน

จูเลียนส์ อีแวนส์-พริตชาร์ด (Julian Evans-Pritchard) หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจจีนของบริษัทวิจัย Capital Economics กล่าวว่า ผู้ร้ายหลักที่ทำร้ายเศรษฐกิจจีนคือภาคอสังหาริมทรัพย์ “แหล่งที่มาของการเติบโตนี้หายไปแล้ว และจะไม่กลับมาอีก” 

“การชะลอตัวนี้อาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง” ปิงหนาน เย่ (Bingnan Ye) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ China Merchants Bank International ในฮ่องกงกล่าว และเขาบอกอีกว่า จีนมีความเสี่ยงด้านลบ คือการบริโภคในครัวเรือนอาจดีขึ้นช้ากว่าที่หลายคนคาดไว้ ขณะที่การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการส่งออกก็เกิดขึ้นพร้อมกัน และยังมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อีกทั้งการกระจายห่วงโซ่อุปทานออกนอกจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็จะเพิ่มแรงกดดันด้านลบอีก 

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกจากทางการจีนหรือไม่ นักเศรษฐศาสตร์มากกว่า 3 ใน 4 หรือมากกว่า 75% ตอบว่า “ไม่”

ตูเว่ เมวิสเซ่น (Teeuwe Mevissen) นักกลยุทธ์มหภาคอาวุโสของธนาคาร Rabobank ในเนเธอร์แลนด์วิเคราะห์ว่า ตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งรับผิดชอบ 85% ของรายจ่ายภาครัฐเป็นหนี้อยู่มหาศาล ซึ่งภาวะนี้จำกัดความสามารถของภาครัฐในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพียงพอที่จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ โดยที่ไม่กระทบต่อการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นเองซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว