
รายงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) เผยว่า หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360 ล้านล้านบาท) ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดหนี้สะสมท่ัวโลกขึ้นไปอยู่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,067 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกพูดถึงว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูง
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) เผยแพร่รายงาน “Global Debt Monitor In Search of Sustainability” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2023 ซึ่งเป็นรายงานการติดตามสถานการณ์หนี้ทั่วโลก ครอบคลุมหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคธุรกิจเอกชน และหนี้ครัวเรือน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- วิธีเช็กเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท chongkho.inbaac.com
รายงานนี้ระบุว่า หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 360 ล้านล้านบาท) ส่งผลให้ยอดหนี้สะสมอยู่ที่ 307 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,067 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แซงหน้ายอดหนี้สูงสุดก่อนหน้านี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022
เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของหนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา หนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 100 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3,600 ล้านล้านบาท)
ประเทศที่ก่อหนี้เพิ่มมากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้เป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหัวแถวของโลก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ซึ่งก่อหนี้รวมกันคิดเป็น 80% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก กล่าวคือ หนี้ที่เพิ่มขึ้น 10 ล้านล้านดอลลาร์ในครึ่งแรกของปีนี้ มาจากสี่ประเทศนี้รวมกันเป็นประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ก่อหนี้เพิ่มมากที่สุดเป็นประเทศใหญ่ ๆ อย่างจีน อินเดีย และบราซิล
เมื่อเทียบอัตราส่วนหนี้ทั่วโลกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมทั้งโลก อัตราส่วนหนี้ทั่วโลกต่อจีดีพีในครึ่งแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 336% ของจีดีพี จากสิ้นปี 2022 อยู่ที่ 334% และ IIF คาดว่าอัตราส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 337% ภายในส้ินปี 2023 นี้ โดยตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ยอดหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นคือการขาดดุลงบประมาณจำนวนมากของรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม อัตราสวนหนี้ต่อจีดีพีในปีนี้ยังต่ำกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 ที่ทั่วโลกยังเผชิญภาวะโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ซึ่งอัตราส่วนหนี้สูงถึง 362% ของจีดีพี
เอ็มเร ทิกติฟ (Emre Tiftik) ผู้อำนวยการ IIF และคณะนักวิจัยอธิบายไว้ในรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้จีดีพีสูงขึ้น เป็นปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังการลดลงอย่างรวดเร็วของอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีในช่วงสองปีที่ผ่านมา
จุดสว่างเล็ก ๆ ในรายงานนี้ คือ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศพัฒนาแล้วลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสองทศวรรษ
แต่ในทางกลับกัน หนี้ของรัฐบาล (ไม่รวมหนี้รัฐวิสาหกิจที่จัดเป็นหนี้ภาคเอกชน) ของหลายประเทศอยู่ในระดับที่น่าตกใจ
ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่รายงานกล่าวถึงคือ การจัดสรรเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลที่จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณการใช้จ่าย
“ความกังวลของเราคือ ประเทศต่าง ๆ ต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายมากขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น … มันจะมีผลกระทบระยะยาวต่อต้นทุนการระดมทุนและพลวัตหนี้ของประเทศต่าง ๆ”
รายงานระบุอีกว่า ต้นทุนดอกเบี้ยหนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการรีไฟแนนซ์หนี้มากขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูงตามการใช้นโยบายการเงินเข้มงวดเพื่อต่อสู้เงินเฟ้อ
IIF กล่าวว่า มีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยสำหรับหนี้สกุลเงินท้องถิ่นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนดอกเบี้ยทั้งหมดของประเทศตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากว่า กลไกแก้ปัญหาหลัก ๆ ที่มีอยู่ในปัจุบันคือ โครงการปรับโครงสร้างหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) นั้นถูกออกแบบมาโดยมุ่งเน้นไปที่เจ้าหนี้ต่างประเทศและหนี้ในสกุลเงินต่างประเทศ
“ที่น่ากังวลที่สุดคือ สถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลกยังไม่ได้รับการเตรียมการอย่างเพียงพอสำหรับจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับความเครียดในตลาดตราสารหนี้ในประเทศ”
เอ็ดเวิร์ด ปาร์กเกอร์ (Edward Parker) กรรมการผู้จัดการของฟิตช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกที่ปรับลดอันดับเครดิตสหรัฐไปเมื่อไม่นานมานี้ก็แสดงความกังวลต่อประเด็นนี้เช่นกัน โดยเขากล่าวว่า “การจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อภาคการเงินสาธารณะและอันดับเครดิตของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่พัฒนาแล้ว”
รายงานนี้ของ IIF กล่าวถึงประเทศไทยด้วยในส่วนที่พูดถึงหนี้ครัวเรือนโดยบอกว่า ภาระหนี้ในการอุปโภคบริโภคโดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ แต่หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงอยู่สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในประเทศจีน เกาหลี และไทย