เปิดข้อมูล “ความถี่การจ่ายค่าจ้าง” ต่างประเทศนิยมแบบไหน แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร ?

ความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในประเทศไทยมีข้อถกเถียงเรื่องการจ่ายเงินเดือนว่าควรหรือไม่ที่จะแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละสองครั้ง หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชเป็นสองงวด เพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของข้าราชการ 

หลังจากมีข้อถกเถียง มีเสียงสนับสนุนและเสียงค้าน รัฐบาลและนายกฯเศรษฐาก็ได้ชี้แจงว่าให้เป็น “ทางเลือก” ใครอยากรับเป็นรายเดือนเหมือนเดิมก็ได้ หรือใครอยากรับเป็นสองงวดก็เลือกได้ตามความพอใจ 

จากประเด็นนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ขอชวนมาดูกันว่า การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานในต่างประเทศนิยมเลือกความถี่ในการจ่ายเป็นแบบไหน แต่ละแบบมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรรวมไปถึงข้อสังเกต-ข้อค้นพบต่าง ๆ ว่า การเลือกรูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้างของสถานประกอบการ สามารถบอกอะไรในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ๆ ได้ด้วย

 

4 รูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง

มีข้อมูลจาก คลาวด์เพย์ (Cloudpay) ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันการจ่ายค่าจ้างระดับโลกที่บอกไว้ว่า ความถี่ในการจ่ายค่าจ้างในระบบทั่วโลกมีอยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่

รายสัปดาห์

การจ่ายเงินรายสัปดาห์โดยหลักการแล้วอาจจะจ่ายในวันไหนในสัปดาห์ก็ได้ แต่วันศุกร์เป็นวันที่นิยมกันมากที่สุด 

รูปแบบการจ่ายรายสัปดาห์เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับพนักงานที่ต้องการได้รับค่าจ้างเร็วขึ้นและสม่ำเสมอมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการทำงานล่วงเวลา และสามารถช่วยคนทำงานจัดการกระแสเงินสดได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินรายสัปดาห์มีต้นทุนสูงกว่าและต้องใช้เวลาการจัดการนานกว่าสำหรับองค์กรหรือนายจ้าง 

รายสองสัปดาห์

การจ่ายเงินรายสองสัปดาห์ หรือ 14 วัน ส่วนใหญ่จะจ่ายใน “วัน” ที่กำหนดของสัปดาห์ที่จะต้องจ่ายค่าจ้าง เช่น วันศุกร์ของสัปดาห์ที่ 2 และวันศุกร์ของสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน 

การจ่ายค่าจ้างรูปแบบนี้ช่วยให้การบริหารบัญชีเงินเดือนง่ายขึ้นและมีต้นทุนถูกกว่ารายสัปดาห์ แต่อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับคนทำงาน เพราะจะได้รับค่าจ้างใน “วันที่” ที่ต่างกันในแต่ละเดือน และจะมีบางเดือนได้รับเงินเป็น 3 งวด ทำให้การวางแผนและบริหารจัดการการเงินทำได้ยาก

รายครึ่งเดือน (แบบที่รัฐบาลไทยกำลังจะทำ) 

การจ่ายรายครึ่งเดือนโดยแบ่งครึ่งละเท่า ๆ กัน อาจจะมีรอบจำนวนวันในการจ่ายที่แทบจะไม่ต่างกับรายสองสัปดาห์ แต่มีข้อดีกว่า คือ คนทำงานจะได้รับเงินค่าตอบแทนตาม “วันที่” ที่กำหนดของทุก ๆ เดือน เดือนละสองครั้ง หาก “วันที่” ที่กำหนดตรงกับวันหยุด ส่วนใหญ่ก็จะจ่ายในวันทำการก่อนหน้านั้น 

ข้อดีของการจ่ายรายครึ่งเดือนคือช่วยขจัดความปวดหัวของคนทำงานเกี่ยวกับ “วัน” กำหนดจ่ายเงินที่ไม่มี “วันที่” ที่แน่นอนของการจ่ายรายสองสัปดาห์ และทำให้คนทำงานมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ขณะที่ต้นทุนขององค์กร-นายจ้างในการจัดการบัญชีและการจ่ายเงินเดือนใกล้เคียงกันกับรายสองสัปดาห์ 

แต่ข้อเสียคือ คำนวณค่าทำงานล่วงเวลายากกว่ารายสองสัปดาห์ เนื่องจากค่าตอบแทนในบางสัปดาห์ต้องถูกแบ่งออกเป็นสองงวด

รายเดือน

การจ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานเป็นรายเดือนตาม “วันที่” ที่กำหนด หาก “วันที่” ที่กำหนดตรงกับวันหยุด ส่วนใหญ่ก็จะจ่ายในวันทำการก่อนหน้านั้น ในเวลา 1 ปี จะมีกำหนดจ่ายเพียง 12 ครั้ง เป็นรูปแบบที่มีต้นทุนกรจัดการต่ำที่สุด และเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุดสำหรับองค์กรในการที่จะจัดการภาษีและหักเงินสมทบอื่น ๆ 

ข้อเสีย คือ การจ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนมีแนวโน้มที่จะสร้างความตึงเครียดทางการเงินให้กับคนทำงานในการที่ต้องพยายามดิ้นรนจัดการการเงินในระยะเวลาที่ยาวนาน โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีรายได้น้อย

คนทำงานก่อสร้างในจีน
คนทำงานก่อสร้างในจีน (ภาพโดย GREG BAKER / AFP)

ในทวีป-ภูมิภาคต่าง ๆ เลือกจ่ายแบบไหน 

คลาวด์เพลย์ยังให้ข้อมูลน่าสนใจอีกว่า ความถี่ในการจ่ายเงินค่าตอบแทนการทำงานของประเทศต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ 

ความถี่ในการจ่ายเงินค่าจ้างอาจแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาค กล่าวคือ ในภูมิภาคหนึ่ง ๆ และในประเทศหนึ่ง ๆ อาจมีรูปแบบการจ่ายค่าจ้างที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่ากฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ – ถ้ามี กำหนดไว้อย่างไร และขึ้นอยู่กับว่าสถานประกอบการนั้น ๆ อยู่ในภาคธุรกิจใด 

อย่างไรก็ตาม สามารถสังเกตได้ว่า มีรูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้างที่ได้รับความนิยมในแต่ละภูมิภาค ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งในแต่ละประเทศ-แต่ละสถานประกอบการอาจจะเลือกรูปแบบตรงกันด้วยเหตุผลเดียวกันหรือเหตุผลที่ต่างกันก็ได้

ทวีปอเมริกา 

ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายการจ้างงานค่อนข้างผ่อนคลาย ทำให้มีความแตกต่างหลากหลายของความถี่และกฎเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนในรัฐต่าง ๆ โดย “รายสองสัปดาห์” เป็นรูปแบบที่ใช้กันมากที่สุดทั่วประเทศ 

ในทำนองเดียวกัน กฎระเบียบในแคนาดาอนุญาตให้นายจ้างเลือกความถี่ในการจ่ายค่าจ้างได้ ตราบใดที่เป็นไปตามกำหนดเวลาและจ่ายอย่างสม่ำเสมอ 

อย่างไรก็ตาม ในอเมริกาใต้มีแนวโน้มที่จะแตกต่างออกไป อย่างในบราซิล กฎหมายกำหนดให้คนทำงานจะต้องได้รับค่าจ้างอย่างน้อยเดือนละครั้ง (ซึ่งหมายความว่าจะจ่ายถี่กว่านั้นก็ได้) และกำหนดให้ต้องได้รับโบนัสเป็นเดือนที่ 13 ในช่วงสิ้นปีของแต่ละปี 

ทวีปยุโรป-ภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา 

ในทวีปยุโรปมีความหลากหลายของรูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง อย่างในเบลเยียม คนทำงานออฟฟิศจะได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน และคนทำงานใช้แรงงาน (ไม่ใช่งานออฟฟิศ) ได้รับค่าจ้างรายครึ่งเดือนเป็นอย่างน้อย กล่าวคือ มีทั้งการจ่ายรายครึ่งเดือนและถี่กว่านั้น อาจจะเป็นรายสองสัปดาห์หรือรายสัปดาห์ก็ได้ 

ในประเทศฝรั่งเศสจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนโดยจ่ายในวันทำการสุดท้ายของเดือน และมีธรรมเนียมจ่ายเงินเดือนเดือนที่ 13 ซึ่งโดยทั่วไปจะจ่ายตอนสิ้นปี 

ในสหราชอาณาจักรและในกาตาร์จะจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนเฉพาะกรณีที่มีการระบุไว้ในสัญญาจ้างงานเท่านั้น ถ้าไม่มีระบุเป็นพิเศษโดยทั่วไปจะจ่ายรายสองสัปดาห์ 

ในประเทศแซมเบีย ทวีปแอฟริกา จ่ายค่าจ้างรายสัปดาห์ รายสองสัปดาห์ หรือรายเดือน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาจ้างงาน 

เอเชีย-แปซิฟิก 

ประเทศในเอเชียหลายประเทศมีจ่ายค่าจ้างเป็น “รายเดือน” อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในอินเดีย ฮ่องกง และจีนแผ่นดินใหญ่ 

แต่ในรัสเซียกำหนดความถี่ของการจ่ายค่าจ้างให้จ่าย “รายครึ่งเดือน” เป็นอย่างน้อย ซึ่งหมายความว่าอาจจะจ่ายรายสองสัปดาห์หรือรายสัปดาห์ก็ได้ แต่จะจ่ายเป็นรายเดือนไม่ได้  

ส่วนการจ่ายโบนัสก็มีอยู่โดยทั่วไปในเอเชีย เช่น ในจีนและฮ่องกงกำหนดให้มีการจ่ายโบนัสปีละ 1 เดือน เหมือนเป็นค่าจ้างเดือนที่ 13 ขณะที่ในอินเดียกำหนดให้จ่ายโบนัสส่วนแบ่งผลกำไรให้คนทำงาน

คนทำงานก่อสร้างในสหรัฐ
คนทำงานก่อสร้างในสหรัฐ (ภาพโดย KENA BETANCUR / AFP)

ข้อมูลเชิงลึกการจ่ายค่าจ้างในสหรัฐอเมริกา 

ในสหรัฐอเมริกามีการใช้รูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้างครบทั้ง 4 รูปแบบที่ว่ามา แต่ “ทางเลือก” ในการจ่ายอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละรัฐ 

จาก 51 รัฐในสรัฐอเมริกา มีรัฐที่กำหนดความถี่ในการจ่ายเงินค่าจ้างไว้เป็น รายสัปดาห์ จำนวน 11 รัฐ, รายสองสัปดาห์ จำนวน 15 รัฐ, รายครึ่งเดือน จำนวน 33 รัฐ และรายเดือน จำนวน 23 รัฐ ซึ่งรัฐต่าง ๆ ส่วนมากกำหนดความถี่ในการจ่ายค่าจ้างไว้มากกว่า 1 รูปแบบ และบางรัฐกำหนดไว้ทั้ง 4 รูปแบบให้เลือกได้

แม้ว่าข้อกำหนดของรัฐจะกำหนดไว้เป็นแบบ “รายครึ่งเดือน” มากที่สุด รองลงมาคือ รายเดือน รายสองสัปดาห์ และรายสัปดาห์ ตามลำดับ แต่สถานประกอบการในสหรัฐเลือกที่จะจ่ายเงินค่าจ้างเป็น “รายสองสัปดาห์” มากที่สุด 

ข้อมูลจากการสำรวจสถิติการจ้างงาน โดยสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) สหรัฐอเมริกา ซึ่งสำรวจความเห็นสถานประกอบการกว่าแสนรายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 พบว่า ความถี่ในการจ่ายค่าจ้างที่เป็นที่นิยมมากที่สุดของสถานประกอบการในสหรัฐ คือ รายสองสัปดาห์ มีสัดส่วน 43% รองลงมาคือ รายสัปดาห์ 27% รายครึ่งเดือน 19.8% และรายเดือน อยู่ในอันดับสุดท้ายที่สัดส่วน 10.3% 

นอกจากนั้น การสำรวจพบว่า “ขนาดของสถานประกอบการ” มีผลต่อการเลือกความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง โดยสถานประกอบการขนาดเล็กจะมีความหลากหลายของ “ความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง” มาก และสัดส่วนการใช้รูปแบบความถี่ต่าง ๆ จะห่างกันน้อยกว่า กล่าวคือ ยิ่งขนาดบริษัทใหญ่ขึ้น สัดส่วนการจ่ายเงินค่าจ้างเป็น “รายสองสัปดาห์” ซึ่งได้รับความนิยมที่สุดก็ยิ่งมากกว่ารูปแบบที่อยู่อันดับที่ 2 และอันดับอื่น ๆ มากขึ้น 

สัดส่วนการเลือก “ความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง” ในสหรัฐ จำแนกตามขนาดสถานประกอบการ

สถานประกอบการขนาดเล็กที่สุด (มีคนทำงาน 1-9 คน) จ่ายค่าจ้างรายสองสัปดาห์ 39% รายสัปดาห์ 24.1% รายครึ่งเดือน 22.5% รายเดือน 14.5% 

สถานประกอบการขนาดใหญ่ที่สุด (มีคนทำงานมากกว่า 1,000 คนขึ้นไป) จ่ายค่าจ้างรายสองสัปดาห์ 66.6% รายสัปดาห์ 26.3% รายครึ่งเดือน 5.6% และรายเดือน 1.5%

 

อุตสาหกรรมที่ค่าจ้างต่ำกว่า มีแนวโน้มจะจ่ายค่าจ้างถี่กว่า

ข้อค้นพบสำคัญที่พบในการค้นคว้า-รวบรวมข้อมูลเรื่องความถี่ในการจ่ายค่าจ้าง คือ ความแตกต่างของอุตสหกรรมมีส่วนอย่างมากต่อการรูปแบบความถี่ในการจ่ายค่าจ้างของสถานประกอบการ (กรณีที่กฎหมายให้ทางเลือก) ซึ่งพบว่า ในอุตสาหกรรมที่ค่าจ้างต่ำจะจ่ายค่าจ้างถี่กว่า โดยนิยมจ่ายเป็นรายสัปดาห์และรายสองสัปดาห์มากกว่าการจ่ายเป็นรายเดือน 

ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) สหรัฐอเมริกา พบว่า ภาคการก่อสร้างจ่ายเป็นรายสัปดาห์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 65.4% จ่ายรายสองสัปดาห์ 22.3% จ่ายรายครึ่งเดือน 6.5% และจ่ายรายเดือน 5.9% 

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต (manufacturing) สัดส่วนอันดับ 1 กับ 2 ใกล้เคียงกันที่สุด คือ รายสองสัปดาห์ 46.6% และรายสัปดาห์ 43.4% 

ภาคการบริการการศึกษาและสุขภาพมีความต่างของสัดส่วนอันดับ 1 กับ 2 มากที่สุด คือ รายสองสัปดาห์ 63.3% รองลงมาคือรายครึ่งเดือน 18.4%

 

สำหรับคนทำงาน รับเงินถี่ ๆ คล่องตัวกว่า สำหรับผู้จ้าง ยิ่งจ่ายถี่ยิ่งบีบคั้น 

สำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐสรุปข้อค้นพบจากการสำรวจและจัดทำข้อมูลไว้ว่า ความถี่ของการจ่ายเงินค่าจ้าง “ส่งผลต่อระยะเวลาในการตัดสินใจด้านงบประมาณและการเงินของทั้งคนงานและนายจ้าง” 

สำหรับคนทำงาน คนที่ได้รับค่าจ้างรายสัปดาห์ซึ่งได้รับค่าจ้างบ่อยที่สุด ก็จะสามารถตัดสินใจเรื่องการใช้จ่ายได้เร็ว อยากได้อะไรก็ตัดสินใจซื้อได้เร็วหากมีเงินเพียงพอที่จะซื้อ ในขณะที่คนที่ได้รับค่าจ้างรายเดือนอาจต้องเลื่อนการซื้อของหรือการชำระเงินบางอย่างออกไปจนกว่าจะได้รับค่าจ้าง

ในทางกลับกัน สถานประกอบการที่จ่ายเงินค่าจ้างให้คนงานเป็นรายสัปดาห์ จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้จ่ายงบประมาณในระยะสั้น ซึ่งสถานประกอบการที่มีรอบการจ่ายห่างกว่าจะไม่มีข้อจำกัด หรือมีน้อยกว่า ยกตัวอย่างเช่น สถานประกอบการที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน สามารถนำเงินไปจ่ายค่าใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ค่าแรงได้เป็นเวลานานกว่า กล่าวคือ ยิ่งรอบการจ่ายค่าจ้าง “ห่าง” เท่าไหร่ยิ่งมีเวลานำเงินไปหมุนนานเท่านั้น