เศรษฐกิจจีนไร้ปัจจัยบวก พ่วงสัญญาณอันตราย เสี่ยงถูกหั่นเครดิต

จีน เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่และส่งผลกระทบอย่างสูงต่อเศรษฐกิจโลก ยังฟื้นยาก-มีปัญหาพัวพันอีนุงตุงนัง ไม่มีสัญญาณดีให้เห็น และยังไม่สร้างความหวังให้แก่ประเทศเล็ก ๆ ที่รอพึ่งอานิสงส์จากจีน มิหนำซ้ำ ยังแบ่งปันผลกระทบด้านลบออกไปแทน

จีนเพิ่งโดน “มูดีส์” บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของโลกปรับแนวโน้มอันดับเครดิต (outlook) พันธบัตรรัฐบาลจีนจากระดับมีเสถียรภาพ (stable outlook) ลงเป็นแนวโน้มเชิงลบ (negative outlook) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคำเตือนว่าจีนอาจโดนปรับลดอันดับเครดิตลงในอนาคตอันไม่ช้าไม่นาน

เหตุผลที่มูดีส์ปรับลดแนวโน้มเครดิตของจีน คือ การประกาศใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านหยวนล่าสุด ซึ่งจะส่งผลให้จีนขาดดุลงบประมาณมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และการที่ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว กำลังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีน

การปรับลดแนวโน้มเครดิตจีนของมูดีส์เป็นการเน้นย้ำความกังวลของทั่วโลกเกี่ยวกับหนี้ภาครัฐของจีน ในขณะที่วิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มจะคลี่คลาย ซึ่งนั่นจะทำให้รัฐต้องใช้เงินช่วยเหลือและสร้างภาระทางการคลังเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

และวันถัดมา มูดีส์ปรับลดแนวโน้มเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลมาเก๊าลงจากแนวโน้มมีเสถียรภาพ (stable outlook) ลงสู่แนวโน้มเชิงลบ (negative outlook) ตามจีนไปติด ๆ ด้วยเหตุผลว่า ฮ่องกงและมาเก๊ามีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งทางการเมือง สถาบัน เศรษฐกิจ และการเงิน

ขณะเดียวกันมูดีส์ ปรับลดแนวแนวโน้มเครดิตของธนาคาร 8 แห่งในจีนจากแนวโน้มมีเสถียรภาพ ลงสู่แนวโน้มเชิงลบ เช่นกัน ซึ่งธนาคาร 8 แห่งนี้ประกอบด้วยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จำนวน 3 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่รัฐเป็นเจ้าของ 5 แห่ง

นอกจากนั้น มูดีส์ได้นำเครื่องมือการจัดหาเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน 26 แห่ง และรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง เข้าสู่การพิจารณาทบทวนปรับลดอันดับเครดิตด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีการตัดสินใจภายใน 3 เดือนข้างหน้านี้

มูดีส์อธิบายว่า คาดว่าจะมีหน่วยงานที่เผชิญความเครียดทางการเงินที่รัฐบาลจะต้องให้การช่วยเหลือจำนวนมากขึ้น ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดความเสี่ยงอันยืดเยื้อจากความตึงเครียดทางการเงินของรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีก

หันไปมองภาคการส่งออก-นำเข้าก็ยัง “ลูกผีลูกคน” การส่งออกของจีนในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวอย่างสร้างเซอร์ไพรส์ หลังจากหดตัวติดต่อกันมา 14 เดือน แม้ว่าอัตราการขยายตัวน้อยจนแทบจะไร้ความหมายเพียง 0.50% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) แต่ก็ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวต่ออีกเดือน ส่วนฝั่งการนำเข้าหดตัวลง 0.60% (YOY)

การส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนพฤศจิกายนพลิกกลับเป็นขั้วตรงข้ามกันกับในเดือนตุลาคมที่การส่งออกหดตัวแรง 6.4% และฝั่งนำเข้าบวก 3.0% (YOY) ซึ่งการพลิกกลับของการนำเข้าสะท้อนได้ว่า ดีมานด์ภายในประเทศจีนไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ตัวเลขในเดือนตุลาคมชวนให้คิด ส่วนฝั่งการส่งออกที่บวก 0.50% ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่าดีมานด์ในตลาดโลกดีขึ้น

ด้านวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายปีนั้น ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้

ล่าสุด “หลุยส์ ลู่” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” เพิ่งวิเคราะห์ว่า จีนมีปัญหาใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ “ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์” ให้ความหวังว่าสถานการณ์ในจีนคงจะไม่แย่ไปกว่านี้มากนัก โดยเธอบอกว่า ภาวะถดถอยในภาคอสังหาฯจีนไม่น่าจะกระตุ้นให้เกิดวิกฤตการเงินในวงกว้างขึ้นด้วยเหตุผลว่าในจีนนั้น รัฐมีบทบาทสูงในการใช้นโยบายควบคุมสถานการณ์ รวมถึงธนาคารจำนวนมากที่ปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาฯก็เป็นธนาคารของรัฐ จึงทำให้ง่ายต่อการจัดการและควบคุมสถานการณ์