Moody’s ปรับแนวโน้มเครดิตเอเชีย-แปซิฟิกลงเป็น “ลบ” ตามจีน 

ลาว
ประตูชัยเวียงจันทร์ ประเทศลาว

มูดีส์ (Moody’s) ปรับแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลในเอเชีย-แปซิฟิก ลงเป็นมุมมองลบ (Negative Outlook) เนื่องจากสามปัจจัย คือ เศรษฐกิจจีนชะลอ ภาวะเงินทุนตึงตัว และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

ซีเอ็นบีซี (CNBC) รายงานเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2024 ว่า มูดีส์ (Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของโลกปรับแนวโน้ม (Outlook) อันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลในเอเชีย-แปซิฟิก จากระดับมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ลงเป็นมุมมองลบ (Negative outlook) เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว บวกกับภาวะเงินทุนตึงตัวและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของจีนจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ไม่ได้เร็วเท่าที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 2023 โดยจีดีพีของจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 โตเพียง 5.2% และภาพรวมทั้งปีก็โต 5.2% ซึ่งต่ำกว่าการประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์ในการสำรวจของรอยเตอร์ที่ประมาณการว่าจะโต 5.3% 

ในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2024 มูดีส์คาดการณ์ว่าการเติบโตของจีดีพีที่แท้จริงของจีนจะชะลอตัวลงเหลือ 4% ทั้งในปี 2024 นี้ และปี 2025 จากที่เคยเติบโตโดยเฉลี่ย 6% ระหว่างปี 2014 ถึง 2023 ซึ่งมูดีส์กล่าวว่า การชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจจีน “มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ” ต่อเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกมีการบูรณาการกันอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในแง่ห่วงโซ่อุปทานระดับโลก  

โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) และมอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley) รวมถึงธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศรายใหญ่อื่น ๆ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตช้าลงที่อัตราการเติบโต 4.6% ในปี 2024 ลดลงจากปี 2023 ที่ประมาณการไว้ว่าโต 5.2%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2023 มูดีส์ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต (outlook) ของพันธบัตรรัฐบาลจีน จากระดับมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ลงเป็นมุมมองเชิงลบ (Negative outlook) ต่อมาในวันที่ 6 ธันวาคม 2023 มูดีส์ได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลมาเก๊า ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน จากแนวโน้มมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ลงสู่แนวโน้มเชิงลบ (Negative outlook) ตามจีนไปติด ๆ และในวันเดียวกันนั้น มูดีส์ได้ปรับลดแนวโน้มเครดิตของธนาคารจีน 8 แห่งซึ่งเป็นเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ จากแนวโน้มมีเสถียรภาพลงสู่แนวโน้มเชิงลบด้วย

ตามการรายงานของซีเอ็นบีซี คริสเตียน เดอ กุซมัน (Christian De Guzman) รองประธานอาวุโสของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) บอกว่า นอกเหนือจาก “สถานการณ์ที่ไม่ค่อยสดใสในจีน” แล้ว เงื่อนไขการระดมทุนที่ตึงตัวยังจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกด้วย 

“นี่เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับสภาพคล่องทั่วโลก ซึ่งเราไม่คิดว่าเฟดจะผ่อนคลายลงจนกว่าจะถึงกลางปี …และสำหรับธนาคารกลางในเอเชีย-แปซิฟิก เราก็ไม่เห็นการแยกส่วน [จาก] เงื่อนไขสภาพคล่องทั่วโลกมากนัก” กุซมันกล่าวในรายการ “Squawk Box Asia” ของ CNBC เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 

สำหรับปัจจัยเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กุซมันกล่าวว่า ความตึงเครียดทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐจะยังคงอยู่

ซึ่ง World Economic Forum ได้บอกไว้ในรายงานตั้งแต่ปี 2018 บอกว่า เป็นเรื่องยากสำหรับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกที่จะรักษาสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ ในขณะที่สหรัฐก็ยังคงเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นกัน

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มูดีส์เขียนในรายงานว่า ปัจจัยลบนี้อาจเป็นโอกาสสำหรับประเทศที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่และมีกำลังปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเดีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีนเพื่อลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ 

มูดีส์บอกในรายงานด้วยว่า หากเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในวงกว้างโดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศและการค้าในภูมิภาคท่ามกลางสภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลง ก็จะสามารถปรับปรุงแนวโน้มอันดับเครดิตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ระดับ “มีเสถียรภาพ” ได้