ตรวจสอบผลกระทบ จากวิกฤต “เอเวอร์แกรนด์”

CHINA-ECONOMY-PROPERTY-EVERGRANDE
This aerial photo taken on September 17, 2021 shows the halted under-construction Evergrande Cultural Tourism City, a mixed-used residential-retail-entertainment development, in Taicang, Suzhou city, in China's eastern Jiangsu province. (Photo by Vivian LIN / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ครั้งหนึ่ง เอเวอร์แกรนด์ เคยได้ชื่อว่าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก แล้วก็กลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดในโลกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 ที่ผ่านมา มูลค่าหนี้สินรวมกันมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อ 29 มกราคม ศาลฮ่องกง มีคำสั่งให้ “ชำระบัญชี” เอเวอร์แกรนด์ มอบหมายให้บริษัท อัลวาเรซ แอนด์ มาร์ซาล ในฐานะผู้ชำระบัญชี เข้าควบคุมทรัพย์สินและเตรียมการเพื่อนำออกขายนำเงินมาชำระหนี้

เอเวอร์แกรนด์ยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว แต่การอุทธรณ์ไม่มีผลยับยั้งต่อกระบวนการชำระบัญชี ที่จะยังคงดำเนินต่อเนื่องต่อไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า กระบวนการชำระบัญชีครั้งนี้น่ากินเวลานานหลายปีจึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อคำนึงถึงขนาดใหญ่โตของบริษัท เอเวอร์แกรนด์

ปัญหาหนึ่งซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนในเวลานี้ก็คือ เนื่องจากศาลฮ่องกงเป็นผู้ออกคำสั่งชำระบัญชีครั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวจะมีผลผูกมัดให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ยอมรับและปฏิบัติตามหรือไม่ เรื่องนี้สำคัญไม่น้อย เพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์นั้นอยู่ในแผ่นดินใหญ่จีน

เอเวอร์แกรนด์ถือครองทรัพย์สินอยู่ราว 1.74 ล้านล้านหยวน หรือราว 245,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มีหนี้สินอยู่ราว 300,000 ล้านดอลลาร์ เกินกว่าทรัพย์สินที่มี นั่นหมายความว่า จำเป็นต้องมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการชำระหนี้ตามบัญชี

“เบเคอร์ แมคเคนซี” ผู้ให้บริการทางกฎหมายระหว่างประเทศระบุไว้ว่า ตามแนวทางที่เป็นสากล เจ้าหนี้ที่มีความสำคัญได้รับการชำระหนี้แรกสุดก็คือ บรรดาเจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลักทรัพย์อย่างเช่น อสังหาริมทรัพย์ จะถูกนำมาขายเพื่อชดใช้หนี้ต่อเจ้าหนี้เหล่านี้นั่นเอง

ถัดมาจึงเป็นผู้ชำระบัญชี ต่อด้วยค่าจ้างพนักงานและหนี้ที่มีต่อภาครัฐ แล้วจึงจะเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน, ซัพพลายเออร์ และบริษัทคู่สัญญาต่าง ๆ ที่อยู่ท้ายสุดก็คือ ผู้ถือหุ้นทั่ว ๆ ไปของเอเวอร์แกรนด์

แต่ เดเนียล มาร์กัลลีส์ แห่งบริษัทกฎหมายเดคเฮิร์ท ตั้งข้อสังเกตว่า ทางการจีนในปักกิ่งน่าจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมในประเทศสูงสุด ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนในจีนจะได้รับความคุ้มครองเป็นลำดับแรกสุด พร้อม ๆ กับที่พยายามให้หลักประกันว่าใครก็ตามที่ซื้อหาอสังหาริมทรัพย์จากเอเวอร์แกรนด์จะได้รับที่พักอาศัยของตนในที่สุด

ในกรณีนี้นักลงทุนภายนอกประเทศจะถูกชะลอจนอยู่หางแถวที่สุด เผชิญกับความไม่แน่นอนนานนับเป็นปี ๆ ในที่สุด และจะได้รับคืนต่ำที่สุด ซึ่งรอยเตอร์เคยประเมินไว้ว่า ไม่น่าจะถึง 3% โดยเฉลี่ย

ผลจากการนี้จะกระทบในทางจิตวิทยาต่อการลงทุนในจีนและเศรษฐกิจจีนโดยรวมมากน้อยแค่ไหนต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การดำเนินการในกรณีเอเวอร์แกรนด์ครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องออกไปสู่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นสำคัญ

แต่ถึงอย่างนั้น ความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ด้วยเหตุที่ว่า กรณีเอเวอร์แกรนด์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นวิกฤตยืดเยื้อที่กลายเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจจีนมานาน และในที่สุดก็จะส่งผลสะเทือนเป็นลูกโซ่ออกไป

กาเวคาล ดราโกโนมิกส์ บริษัทวิจัยตลาดในจีน ชี้ว่า หนึ่งในผลสะเทือนที่เห็นได้ก็คือ การที่บรรดาบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่จดทะเบียนในจีนและนอกประเทศ อาจไม่มีเงินทุนในการดำเนินการจนไม่สามารถส่งมอบอย่างน้อยบางส่วนของโครงการให้กับผู้ซื้อได้

กาเวคาลประเมินไว้ว่า มูลค่ารวมในส่วนนี้สูงถึง 7.5 ล้านล้านหยวน หรือราว 1 ล้านล้านดอลลาร์

ในอีกทางหนึ่งก็คือ ความเสี่ยงที่ว่าบรรดาบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ขาดแคลนเงินทุนอย่างหนัก อาจไม่สามารถชำระเงินให้กับซัพพลายเออร์ของตนเองได้ มูลค่ารวมในส่วนนี้ก็ไม่ใช่เล็กน้อยอีกเช่นกัน เพราะสูงถึง 3.4 ล้านล้านหยวน ณ ราวกลางปี 2023

ผลกระทบจากกรณีเอเวอร์แกรนด์ จึงไม่ได้เล็กน้อยอย่างที่หลายคนคิด แต่หนักหน่วงและรุนแรงมากพอที่อาจจะส่งจีนให้เข้าสู่วังวนของปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราการขยายตัวต่ำ เหมือนที่ญี่ปุ่น
เคยเผชิญมาในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ ในสภาพที่ภาพรวมเลวร้ายกว่าญี่ปุ่นในตอนนั้นเสียด้วยซ้ำไป

การคาดการณ์เช่นนี้อาจเป็นการมองโลกในแง่ร้ายมากจนเกินไป หากคำนึงถึงว่ากรณีเอเวอร์แกรนด์ เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า จีนเต็มใจที่จะใช้วิธีเด็ดขาดจัดการกับปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

แต่กระนั้น สิ่งที่เป็นผลดีในระยะยาว ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สร้างความยากลำบากและความเจ็บปวดสูงอย่างยิ่งในระยะสั้นแต่อย่างใด