“วิกฤตหนี้” อสังหาฯจีน เวอร์ชั่นเดียวกับมะกันแต่ “ใหญ่” กว่า ?

CHINA-HONG KONG-PROPERTY-EVERGRANDE
A man walks to a partially operating Evergrande commercial complex (L), next to an Evergrande residential compound (R) in Beijing on January 30, 2024. A Hong Kong court on January 29 ordered the liquidation of China's property giant Evergrande, but the firm said it would continue to operate in a case that has become a symbol of the nation's deepening economic woes. (Photo by Pedro PARDO / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนในตอนนี้ ไม่มีประเด็นไหนถูกจับตาด้วยความวิตกกังวลเท่ากับ “วิกฤตหนี้อสังหาริมทรัพย์” ซึ่งมีหนี้ก้อนใหญ่มโหฬาร นำโดยหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งล่าสุดถูกเปรียบเปรยว่าจีนกำลังประสบปัญหา “วิกฤตการเงิน” ในรูปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับวิกฤตการเงินครั้งใหญ่และร้ายแรงของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008

ไคล์ บาสส์ ผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์เฮย์แมน แคปิตอล ชี้ว่า การที่จีนพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจ อยู่ในภาวะคล้ายกับวิกฤตการเงินสหรัฐเมื่อปี 2008 “มันคล้ายกับวิกฤตการเงินสหรัฐ แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ใหญ่กว่า”

เพราะว่าจีนมีการกู้ยืมเงินธนาคารมากกว่าสหรัฐอเมริกา 3.5 เท่า เมื่อเทียบกับตอนที่สหรัฐเข้าสู่วิกฤตในขณะนั้น เป็นไปได้ว่าตลอดหลายปีที่เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างร้อนแรงในระดับเลขสองหลัก อาจเกิดจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีการกำกับดูแล ทำให้มีการกู้ยืมหนี้มากเกินไป เพื่อทำให้ตลาดเติบโต และพวกเขาใช้เวลาเพียง 20 ปีในการเดินทางมาถึงจุดวิกฤตนี้

การที่ในตอนนี้บริษัทอสังหาฯรายใหญ่ผิดนัดชำระหนี้ ได้สร้างปัญหาใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจจีนในวงกว้าง เพราะว่าภาคอสังหาฯมีสัดส่วน 25% ของจีดีพี และคิดเป็น 70% ของความมั่งคั่งครัวเรือนทั้งหมด “สถาปัตยกรรมการเงินพื้นฐานของจีนพังทลายแล้ว” บาสส์ระบุ และว่าในความเป็นจริงบริษัทอสังหาฯจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทมหาชนล้วนแต่ผิดนัดชำระหนี้หมด เฉพาะ 2 รายใหญ่ที่สุดคือเอเวอร์แกรนด์และคันทรี การ์เดน มีหนี้สินรวมกัน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในรายของเอเวอร์แกรนด์ถูกศาลฮ่องกงสั่งให้ล้มละลายแล้ว

หากเปรียบเทียบกับวิกฤตการเงินสหรัฐเมื่อปี 2008 ระบบธนาคารสหรัฐสูญเสียรวมทั้งสิ้น 8 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนนั้นประเมินว่าตอนนี้รัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สินรวมกันประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์ การผิดนัดชำระหนี้ของบรรดาบริษัทเหล่านี้สร้างความตึงเครียดทางการเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่น เพราะปกติมีรายได้จากการขายที่ดินให้กับนักพัฒนา ความตึงเครียดนี้สามารถตามร่องรอยได้จากการที่ตลาดหุ้นจีนสูญเสียมูลค่าไปแล้ว 7 ล้านล้านดอลลาร์นับจากปี 2021

ในอีกด้านหนึ่ง อาร์เธอร์ ลาฟเฟอร์ นักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤตหนี้ โดย ณ ไตรมาส 3 ปี 2023 ทั่วโลกมีหนี้รวมกัน 307.4 ล้านล้านดอลลาร์ สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทั้งประเทศรวยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนมีสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมากรวม 100 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว และคาดว่าวิกฤตดังกล่าวจะขยายตัวต่อไปอีกในระยะ 10 ปีข้างหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

ลาฟเฟอร์ทำนายว่า 10 ปีข้างหน้าจะเป็น “ทศวรรษแห่งหนี้” และจะจบอย่างไม่สวย โดยขณะนี้สัดส่วนหนี้ทั่วโลกต่อจีดีพีขยับขึ้นเป็น 336% ต่อจีดีพี เทียบกับค่าเฉลี่ยเพียง 110% ต่อจีดีพีสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในปี 2012 และ 35% สำหรับประเทศ เศรษฐกิจเกิดใหม่ และเพื่อจะชำระหนี้ จะทำให้ประมาณ 100 ประเทศต้องตัดค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นด้านสังคมลง ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพ การศึกษา และการปกป้องทางสังคม

ประเทศที่สามารถปรับปรุงสถานการณ์งบประมาณให้ดีขึ้นจะได้ประโยชน์จากการที่สามารถดึงดูดแรงงาน เงินทุน และการลงทุนจากต่างประเทศ แต่หากประเทศใดล้มเหลวก็จะสูญเสียความสามารถและรายได้ รวมทั้งอื่น ๆ อีกมากมาย ประเทศขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้จะตายอย่างช้า ๆ ส่วนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็อาจจะล้มละลาย

ตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ก่อหนี้รวมกันเกิน 80% ของหนี้ที่เกิดขึ้นในครึ่งแรกของปี 2023 ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จีน อินเดีย และบราซิล ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งการชำระหนี้จะกลายเป็นปัญหามากขึ้น เนื่องจากประชากรของประเทศพัฒนาแล้วแก่ชราลงอย่างต่อเนื่อง แรงงานในตลาดจะขาดแคลนมากขึ้น

มีเพียงสองทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทางแรกคือขึ้นภาษี อีกทางก็คือทำให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วกว่าหนี้