จับตาการประชุม 2 สภา กับทางเลือกของรัฐบาลจีน

จีน ประชุมสองสภา
สี จิ้นผิง ในระหว่างการประชุมสองสภา วันที่ 5 มีนาคม 2024 (ภาพโดย GREG BAKER / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษรฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

การประชุม 2 สภาประจำปี 2024 ของจีน เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางสารพัดปัญหารุมเร้าทางเศรษฐกิจ จนเชื่อกันว่า วาระสำคัญที่สุดในการประชุมปีนี้ ก็คือการวางแนวทางแก้ไขและกำหนดการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

บางส่วนถึงกับลุ้นด้วยซ้ำไปว่า จะมีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ออกมา เพื่อนำเศรษฐกิจจีนกลับเข้าร่องเข้ารอย มีอัตราการเติบโตสูงเหมือนเช่นเมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง

ปัญหาก็คือ นักสังเกตการณ์และนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่ง กลับไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น เหตุผลสำคัญเป็นเพราะที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งในปี 2012 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เคยให้ความสำคัญของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เหนือกว่าความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนมาก่อน

“สี จิ้นผิง” ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงเป็นอันดับแรกมาตั้งแต่แรกเริ่ม และยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อครองตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 มีอำนาจสูงสุดทั้งในพรรคและรัฐในเวลาต่อมา

ที่สำคัญมากขึ้นไปอีกก็คือ ความมั่นคงในทรรศนะของ สี จิ้นผิง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในแง่มุมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมกว้างขวางไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม โครงสร้างพื้นฐานและระบบการเงินของประเทศด้วยอีกต่างหาก

เป้าหมายถึงที่สุดของวิสัยทัศน์นี้ก็คือ การทำให้แน่ใจว่า “จีน” จะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ในเวลาเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงครองอำนาจเหนือจีนทั้งประเทศอยู่อย่างมั่นคงในอนาคต

Advertisment
สี จิ้นผิง ประชุมสองสภา
สี จิ้นผิง ในระหว่างการประชุมสองสภา วันที่ 4 มีนาคม 2024 (ภาพโดย Florence Lo/ REUTERS)

การให้ความสำคัญสูงสุดกับ “ความมั่นคง” ในแบบฉบับของสี จิ้นผิง ส่งผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในหลาย ๆ ด้าน และหากทางการจีนยังคงเลือกทางเลือกเดิมเช่นนี้ต่อไป ก็จะยังกลายเป็นตัวถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปในปีนี้ ไม่ว่าจะมีการประกาศนโยบายกระตุ้นหรือแนวทางการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตออกมาหรือไม่ก็ตาม

ที่ผ่านมา เพราะแนวคิดด้านความมั่นคงทำนองนี้ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบและกำกับดูแลอย่างหนัก และยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่โลกตะวันตกเริ่มจำกัดการเข้าถึงตลาดและองค์ความรู้ของตนเอง ซึ่งยิ่งนับวันยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ที่ในที่สุดก็ลงเอยด้วยการที่นักลงทุนต่างชาติพากันถอนตัวหนีออกมาจากจีน

Advertisment

ภายในจีนเกิดปัจจัยหลายอย่างที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลงอย่างหนัก ตั้งแต่ปัญหาหนี้เสียที่คาราคาซัง หาทางออกเบ็ดเสร็จไม่ได้ ทั้งในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ และในส่วนของรัฐบาลท้องถิ่น ในขณะที่ภาคการผลิตเกิดภาวะผลิตล้นเกินกว่าความต้องการ เช่นเดียวกับในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เกินความจำเป็น ผลลัพธ์ก็คือ การลงทุนเพิ่มเติมที่ควรมีกลับหดหายไป

อุปสงค์ภายในประเทศหดหายไปไม่น้อยเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากสภาพการ “ล็อกดาวน์” ในช่วงวิกฤตโควิด อีกส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหารายได้และความมั่งคั่งที่หายไปเพราะนโยบาย “กระจายรายได้” เพื่อไปสู่ความรุ่งโรจน์ร่วมกันของสี จิ้นผิงอีกเช่นกัน

แนวคิดในเรื่องความมั่นคงทางการเงินที่ส่งผลให้เกิดการตรวจสอบเข้มงวด นำไปสู่การล่มจมของ “ธนาคารเงา” และการกู้นอกระบบก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันการเข้มงวดที่ว่านั้นก็กลายเป็นการจำกัดการไหลเวียนของเงินทุนไปยังภาคส่วนธุรกิจที่มีพลวัตสูงด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังทำให้พัฒนาการใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับระบบการเงินของประเทศจำเป็นต้องมี “ธรรมชาติที่เป็นจีน” อยู่อย่างมั่นคง และอะไรก็ตามที่เป็น “ต่างชาติ” ล้วนต้องสงสัยไว้ก่อนทั้งหมดอีกต่างหาก

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า แนวคิดเรื่องความมั่นคงของ สี จิ้นผิง นำไปสู่ความพยายามเพื่อ “พึ่งตนเอง” ให้ได้ภายใต้สมมุติฐานของการกลายเป็นประเทศที่ปิดตายจากโลกภายนอกอีกครั้ง ไม่ใช่จีนที่เคยเปิดกว้าง ปล่อยให้มีการไหลเวียนสินค้าและเงินทุนกับทั่วโลก ซึ่งเคยทำให้เศรษฐกิจจีน “บูม” มาต่อเนื่องถึง 40 ปีแต่อย่างใด

การประชุม 2 สภาครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสอีกครั้งสำหรับทางการจีนในการเลือกชั่งน้ำหนักให้ถูกต้องระหว่าง “ความมั่นคง” กับ “เศรษฐกิจ”

ไม่ยึดถือว่าการเปิดกว้างเพื่อการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คือภัยคุกคาม หากแต่เป็น “โอกาส” ที่ควรต้อนรับด้วยความยินดีต่างหาก