ทำไมวาฬเพชฌฆาตจึงฆ่าฉลามเพื่อกินแต่ตับ

Marine Dynamics ซากฉลามเจ็ดเหงือกที่ถูกกัดกินเอาแต่ตับบนชายหาดประเทศแอฟริกาใต้

วาฬเพชฌฆาต 2 ตัวได้ออกล่าเหยื่ออย่างบ้าคลั่งอีกครั้ง โดยล่าสุดได้ฆ่า “ฉลามเจ็ดเหงือก” (broadnose sevengill shark) ไป 19 ตัวในวันเดียว เพื่อมุ่งกินแต่ตับ แล้วทิ้งร่างเหยื่อให้เน่า ก่อนที่จะถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งทางตอนใต้สุดของประเทศแอฟริกาใต้

ซากฉลามที่ปรากฏได้กระตุ้นความสนใจของ ดร.อลิสัน ค็อก นักชีววิทยาทางทะเลประจำสำนักอุทยานแห่งชาติแอฟริกาใต้ ที่ทวีตเรื่องราวของสองคู่หูวาฬเพชฌฆาตเพศผู้ที่ชื่อ “พอร์ต” และ “สตาร์บอร์ด” บอกเล่าการล่าเหยื่ออย่างบ้าระห่ำของพวกมันเมื่อ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับวาฬเพชฌฆาตคู่นี้ เพราะเมื่อปี 2017 มีรายงานว่าพวกมันได้ฆ่าฉลามขาวไปอย่างน้อย 8 ตัว โดยในจำนวนนี้ 7 ตัวมีร่องรอยถูกกัดกินเอาแต่ตับ แล้วทิ้งร่างที่เหลือให้เน่าเปื่อยในทะเล

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมวาฬเพชฌฆาตสองตัวนี้จึงมุ่งกินแต่ตับของปลาฉลาม

Port and Starboard, a pair of killer whales, on the hunt for fresh shark livers.

Alison Kock
“พอร์ต” และ “สตาร์บอร์ด” คู่หูนักล่าตับฉลาม

ดร.ค็อก ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าววิทยาศาสตร์ Live Science ว่า “พวกมันน่าจะเรียนรู้จากประสบการณ์ตอนที่ได้ล่าเหยื่อชนิดใหม่เป็นครั้งแรก”

นี่หมายความว่า เมื่อวาฬเพชฌฆาตรู้ตำแหน่งของตับในร่างกายฉลาม “พวกมันจะจดจำได้ตลอดไป และกลายเป็นนักล่าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ดร.ค็อก อธิบายว่า ตับฉลาม “มีคุณค่าทางสารอาหารมาก โดยอุดมไปด้วยไขมัน และวิตามินต่าง ๆ” ดังนั้น “วาฬเพชฌฆาตอาจได้เรียนรู้ว่าการกินตับฉลามทำให้พวกมันได้รับพลังงานและสารอาหารปริมาณมาก”

นอกจากนี้ ตับฉลามยังมีขนาดใหญ่และลอยตัวได้ ดังนั้นเมื่อฉลามตาย ตับก็จะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำทำให้วาฬเพชฌฆาตสังเกตเห็นและเข้ากินได้โดยง่าย ต่างจากอวัยวะภายในชนิดอื่น ๆ ที่อาจจมลงสู่ก้นทะเล

A killer whale jumps out of the water in the sea

Reuters
วาฬเพชฌฆาตมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเป็นกลุ่มหรือเป็นคู่ เพื่อให้สามารถหลอกล่อและต้อนเหยื่อให้จนมุม

วาฬเพชฌฆาตมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเป็นกลุ่ม หรือเป็นคู่ เพื่อให้สามารถหลอกล่อและต้อนเหยื่อให้จนมุม ซึ่งเป็นพฤติกรรมสำคัญที่ช่วยให้พวกมันได้เปรียบเหยื่อ

ดร.ค็อก บอกว่า วาฬเพชฌฆาตตัวหนึ่งอาจทำหน้าที่หลอกล่อเหยื่อ ส่วนอีกตัวรับหน้าที่ในการสังหาร “กลยุทธ์การล่าแบบนี้ต้องใช้ความชาญฉลาดสูง และความร่วมมือกันในหมู่วาฬเพชฌฆาต”

เธออธิบายว่า วาฬเพชฌฆาตอาจใช้หางขนาดใหญ่ในการฟาด หรือทำให้ฉลามพลิกคว่ำ แล้วตกอยู่ในภาวะอัมพาตชั่วคราว ซึ่งพฤติกรรมการล่าเหยื่อลักษณะนี้ของวาฬเพชฌฆาตพบได้ทั่วโลก เช่น อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะพบการล่ากินตับฉลามขาวและฉลามเจ็ดเหงือกเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแอฟริกาใต้

ดร.ค็อก ชี้ว่าการพบฉลามซึ่งเป็นสัตว์นักล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหารตายหลายตัวภายในเวลาเพียง 1 วันถือเป็นเรื่องน่ากังวลว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว