ทักษิณชนะแล้ว 3 คดี ก่อนศาลเพิกถอนเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป 17,000 ล้าน

ทักษิณ ครอบครัว

ทักษิณชนะคดีเป็นครั้งที่ 3 ที่เกี่ยวเนื่องกับหลังรัฐประหารและคดียึดทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน 

วันที่ 8 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวแจ้งว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชนะคดีที่กรมสรรพากรฟ้อง กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในกรณีศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษา ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 คดีความแพ่งที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และศาล มีคำพิพากษาคดีความแพ่ง หมายเลขดำ ภ.220/2563

จากการที่นายทักษิณเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมสรรพากร นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร นายประภาส สนั่นศิลป์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด จำเลยที่ 3 นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์

โดยจำเลยที่ 1-4 ผู้แทนกรมการปกครอง ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทักษิณ ชนะแล้ว 3 คดี

หนึ่ง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา วินิจฉัยยืนคดีสั่งกระทรวงการคลังบริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง

เนื่องจากนายทักษิณไม่ได้มีเจตนาพิเศษในการให้กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการแผนทีพีไอ และไม่ได้แสวงผลประโยชน์ หรือกระทำการ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงพิพากษายกฟ้อง

สอง วันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต โดยศาลวินิจฉัยว่า ตามพยานที่ให้การแก่ คตส. ป.ป.ช. และศาลฎีกาฯ อ้างว่าคนสั่งการคือ “ซูเปอร์บอส” หรือ “บิ๊กบอส” นั้น ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ว่าคือนายทักษิณ หรือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

อีกทั้งคำให้การของพยานนั้น จับความเอากับเคยประชุมร่วมกับจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยความคิดและความเข้าใจไปเองของพยาน

นอกจากนี้ ไม่มีพยานหลักฐานใดส่อแสดง หรือบ่งชี้ว่านายทักษิณได้ร่วมกัน หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสั่งการจำเลยอื่น ๆ ในการกระทำความผิดส่วนนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง

สาม วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ศาลภาษีอากรกลางเพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไทม์ไลน์ คดีภาษี 17,000 ล้านบาท

คดีเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ป มีกระบวนการเกิดขึ้นตั้งแต่ 16 ปีก่อน

  • 23 มกราคม 2549 นายทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็ก จำนวน 1,487 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงินกว่า 73,271 ล้านบาท หลังซื้อมาจากบริษัท แอมเพิ้ลรัช จำกัด ในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท

 

  • หน่วยงานรัฐเคยเห็นต่างเรื่องอายุความ โดยกรมสรรพากรมองว่า หมดไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2555 เนื่องจากกรณีที่ผู้เสียภาษีมาเสียภาษีเงินได้ไม่ครบถ้วน ประมวลรัษฎากรให้กรมสรรพากรออกหมายเรียกมาไต่สวนภายใน 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนแต่อย่างใด

 

  • 13 มีนาคม 2560 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม และเห็นว่ากรมสรรพากรเคยออกหมายเรียก นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา นอมินีที่ถือหุ้นแทนนายทักษิณ มาไต่สวนเมื่อปี 2555 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820-821 ให้ถือว่าเคยออกหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนแล้ว และทำให้อายุความขยายมาจนถึง 31 มีนาคม 2560 และกรมสรรพากรยังสามารถประเมินภาษีนายทักษิณได้ โดยไม่ต้องออกหมายเรียกมาไต่สวนอีก และทันทีที่ส่งหนังสือประเมินให้นายทักษิณอายุความก็จะหยุดลง

 

  • พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น อ้างคำพูดของนายวิษณุ เครืองาม ที่รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ว่าเรื่องนี้ถือเป็น “อภินิหารทางกฎหมาย”

 

  • 15 มีนาคม 2565 นายวิษณุ ชี้แจงว่าเป็นอภินิหารทางกฎหมาย เพราะเจอช่องทางที่สมควรจะเสี่ยงดูในเรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลได้เปรียบ ส่วนผลของคดีจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณา จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต และเรื่องนี้ได้ชี้แจงกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ แต่เป็นที่เทา แม้แต่กรมสรรพากรยังหาคำตอบไม่ได้ จึงต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

 

  • นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เคยโต้แย้งว่า ศาลภาษีอากรกลางเคยสั่งเพิกถอนหมายเรียกนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา มาไต่สวน ทำให้อายุความสิ้นสุดลงไปนานแล้ว

 

  • 28 มีนาคม 2560 เจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากรนำหนังสือแจ้งประเมินภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปของนายทักษิณ รวมเป็นเงินกว่า 17,629 ล้านบาท ไปติดไว้บริเวณหน้าบ้านพักของนายทักษิณ ในขณะนั้นมีนายประสงค์ พูนธเนศ เป็นอธิบดีกรมสรรพากร

 

  • 25 เมษายน 2560 ทีมกฎหมายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป เมื่อปี 2549 รวมเป็นเงินกว่า 17,629 ล้านบาท หลังถูกเรียกประเมินเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบระยะเวลา 30 วันตามกฎหมาย

ล่าสุด 8 สิงหาคม 2565 ศาลภาษีอากรกลาง มีคำพิพากษาคดีความแพ่ง หมายเลขดำ ภ.220/2563 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 จากการที่นายทักษิณเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร นายพงษ์ศักดิ์ เมธาพิพัฒน์ ผู้แทนอธิบดีกรมสรรพากร นายประภาส สนั่นศิลป์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด จำเลยที่ 3 นายพิสิทธิ์ ศรีวรานันท์ จำเลยที่ 1-4 ผู้แทนกรมการปกครอง ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการขายหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 17,000 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย