ทำไมต้องประเมิน SEA ก่อนผลักดันเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและภาคีเซฟจะนะตั้งขบวนหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ไปที่แยกมัฆวานรังสรรค์ มุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 13 ธ.ค. 2564
เสาวรัจ รัตนคำฟู 
ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

จากการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ทั้งท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ ท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูป ตลอดจนการสร้างโรงไฟฟ้าและสวนอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ เช่น กังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า หัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า ตลอดจนเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม การเร่งผลักดันโครงการดังกล่าวกำลังก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐ และประชาชนในพื้นที่ เพราะไม่ได้ดำเนินการสิ่งที่สมควรทำก่อนคือ การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) และทางออกจากความขัดแย้งนี้คือ การจัดทำ SEA อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล

ในโครงการขนาดใหญ่โดยทั่วไป การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นขั้นตอนที่สำคัญ แต่ “อภิมหาโครงการ” อย่างเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ ต้องการการศึกษาผลกระทบในภาพรวมแบบยุทธศาสตร์หรือ SEA ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม และการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และป้องกันความผิดพลาดในการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย

ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศในสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ จึงมีการใช้ SEA อย่างมากในการวางแผนพัฒนาประเทศ

แม้กระทั่งจีนก็ยังใช้ SEA ในการวางแผนต่าง ๆ เช่น การสร้างเครือข่ายรถไฟในประเทศ การพัฒนาเมืองและการเดินทางขนส่งในเมืองกุ้ยหยาง

ทั้งนี้ โครงการที่มักใช้ SEA คือโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง ระบบการผลิตอาหาร ระบบน้ำและการกำจัดขยะ

ในประเทศไทย แนวคิดในการจัดทำ SEA ในการทำแผนพัฒนาพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นแนวคิดที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ดังจะเห็นได้จากรายงานการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ของ สศช. ในปี 2554 ซึ่งเสนอให้จัดทำ SEA เพื่อประเมินความสามารถของพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดความสมดุลของการพัฒนาในมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่าง ๆ ตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 (2550–2555) ก็ได้ส่งเสริมระบบการจัดทำ SEA

ส่วนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 (2555–2559) ก็เสนอให้ปรับปรุงกระบวนการ SEA ต่อเนื่องมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (2560–2565) ที่มุ่งผลักดันให้การทำ SEA เป็นขั้นตอนทางกฎหมายในการทำโครงการขนาดใหญ่

นอกจากนี้ แผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติปี 2561–2580 ยังกำหนดให้มีการพัฒนาระบบการจัดทำ SEA เช่นเดียวกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (ข้อ 10.7) ก็ระบุให้ใช้ SEA เป็นกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการร่วมมือกันของรัฐและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ชี้ 2 เหตุผล รัฐต้องทำ SEA ก่อนเดินหน้าปั้นเขตอุตสาหกรรมจะนะ

เพื่อแก้ไขความขัดแย้งกรณีเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ รัฐบาลจึงควรดำเนินการให้มีการจัดทำ SEA ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ยังไม่ได้จัดทำ SEA

โดยที่ผ่านมา มีเพียงการจัดทำ “กรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 ‘เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ” ในเอกสารผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวที่มีเนื้อหาทั้งหมด 26 หน้า ได้กล่าวอ้างถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมเพียงหน้าเดียวว่า โครงการนี้จะสร้างงานขึ้น 100,000 อัตรา โดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนสนับสนุน

เอกสารดังกล่าวยังขาดการพิจารณาประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประมงพื้นบ้าน

การอ้างลอย ๆ ว่า โครงการนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นนับแสนตำแหน่งโดยไม่แสดงหลักฐานสนับสนุนเลย ทำให้เกิดคำถามว่า การจ้างงานมากมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่ออุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนักที่ใช้ทุนเข้มข้น (capital intensive) ซึ่งไม่ต้องการแรงงานจำนวนมาก

ที่สำคัญ ในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในโลกกำลังมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการเติบโตสีเขียวที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รัฐบาลควรต้องพึงระวังว่า การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นจะไม่ไปกระทบสิทธิในการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ซึ่งพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เพียงเพื่อประโยชน์ของนายทุนบางกลุ่ม

ประการที่สอง ในรายงานการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ปี 2554 สศช.ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ควรชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมรวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไว้จนกว่าจะสร้างการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนา ซึ่งส่วนหนึ่งจะเกิดขึ้นโดยการจัดทำ SEA

โดยสรุป รัฐบาลควรสั่งการให้มีการจัดทำ SEA ที่รอบด้านและได้มาตรฐานตามแนวนโยบายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเอง ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ที่สุดต่อประเทศชาติ และสามารถสร้างการยอมรับของประชาชน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะ