เจาะเครือข่าย “โครงการจะนะ” ทำไมคนพื้นที่เสียงแตก

ภาพ : www.tpipolenepower.co.th

ชื่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หรือ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมขึ้นมาอีกครั้ง หลังภาคประชาชนและเอ็นจีโอออกมาคัดค้าน อ้างว่ามีการชงเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปก่อน แล้วจึงค่อยมาทำเวทีสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ผู้คัดค้านพากันมาชุมนุมต่อเนื่องปักหลักค้างคืน บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรม ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

“ประชาชาติธุรกิจ” พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะฯ ตั้งแต่เดย์วันของการอนุมัติโครงการ

เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติเรื่องการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งจะลงทุนโดยภาคเอกชน

หากโมเดลนี้สำเร็จจะขยายไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 14 แห่ง เช่น สะเดา สงขลา เทพา หนองจิก ปัตตานี เขตพิเศษนราธิวาส เบตง ฯลฯ

การดำเนินการส่วนนี้เป็นความร่วมมือของบริษัทเอกชน 3 ราย ซึ่งได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 ประมาณ 10,800 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ 7,000 กว่าไร่ และกลุ่ม บมจ.ปตท. โดย บมจ.ไออาร์พีซี มีที่ดิน 3,000 กว่าไร่ โดยเอกชนทั้ง 3 รายจะร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้น 

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจัดหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการนี้เอกชนจะลงทุนทั้งหมด โดยรัฐไม่เกี่ยวข้อง รัฐเพียงแค่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ออกใบอนุญาต ประสานงานเชื่อมแผนการลงทุนต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง ฯลฯ

ดร.ชนธัญ กล่าวด้วยว่า เอกชนได้เข้าปรับปรุงพื้นที่ พร้อมทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) โดยจะดำเนินการควบคู่กันในช่วงเวลา 2 ปีนับจากนี้ นอกจากนี้ ทีพีไอ และไออาร์พีซี จะเชิญชวนเอกชนนอกพื้นที่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าไปลงทุนด้วย

แผนการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีทั้งหมด 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว 2.การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 3.พลังงานไฟฟ้าทางเลือก และ 4.นิคมอุตสาหกรรมจะนะ

วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นักลงทุนชาวจีนที่มาร่วมทุนกับกลุ่มทีพีไอกรุ๊ป เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง มูลค่า 4 แสนล้านบาท ยังคงพร้อมเดินหน้าโครงการลงทุน แม้จะมีสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19

แต่สาเหตุที่โครงการลงทุนต้องล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทางกลุ่มพีทีไอกรุ๊ปได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์การลงทุนโครงการเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้า มูลค่า 4 แสนล้านบาท กับทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้พิจารณา แต่โครงการดังกล่าวต้องถูกตีกลับ เนื่องจากพื้นที่ 7,000 ไร่ ที่จะใช้ก่อสร้างโครงการเป็นพื้นที่สีเขียว ไม่สามารถทำโครงการอุตสาหกรรมได้ ดังนั้นทางกลุ่มทีพีไอกรุ๊ปจึงเร่งให้ ศอ.บต. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

ก่อนหน้านั้น กลุ่มคัดค้านโครงการ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ประมาณ 30 คน ได้มาชูแผ่นป้ายคัดค้านให้ยกเลิกโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ระบุว่าโครงการถูกสร้างขึ้นจากกระบวนการเท็จตั้งแต่ต้น และกำลังกลายเป็นโครงการที่สร้างความขัดแย้งในชุมชนที่อาจจะหนักขึ้นในอนาคต ทั้งการยุยงส่งเสริมให้คนในชุมชนขัดแย้งกัน การจัดฉากสร้างเวทีรับฟังความคิดเห็นหวังเพียงลายเซ็นและรายชื่อผู้สนับสนุน การร่วมกับกลุ่มทุนพยายามรวบรัดขั้นตอนกระบวนการดำเนินงาน

รวมทั้งการที่ให้รัฐบาลอนุมัติโครงการมาจากข้างบนก่อน แล้วพยายามจัดเวทีตามหลังแทนที่จะฟังเสียงของคนในพื้นที่ก่อน

วันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการเมืองต้นแบบ 4 หรือโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ขึ้น ที่โรงเรียนจะนะวิทยา อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมี ดร.ชนธัญ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนนับพันนายทั้งชายและชายหญิง มาตรึงกำลังอยู่บริเวณทางเข้า เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าฝ่ายที่คัดค้านทั้งเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และเอ็นจีโอ จะรวมตัวกันเคลื่อนไหวเพื่อล้มเวที นอกจากนี้ยังมีการปิดเส้นทางทั้งขึ้นและขาล่องสงขลา-ปัตตานี บริเวณหน้าโรงเรียนระยะทาง 9 กิเมตร

โดยมีชาวบ้านจาก 3 ตำบล อ.จะนะ จ.สงขลา ได้แก่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ตั้งโครงการ รวม 31 หมู่บ้าน และมีประชาชนเดินทางมาเข้าร่วมเวที พร้อมถือป้ายสนับสนุนโครงการและมีการคัดกรองเข้มเปิดให้เฉพาะชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 ตำบล เข้ารับฟังเท่านั้น

ขณะเดียวกันที่องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชัน หมู่ที่ 4 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในนาม “กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ” ตั้งเวทีคู่ขนานขึ้น โดยมี นายสมชาย เล่งหลัก เป็นแกนนำ และได้มีการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มเพื่อแสดงจุดยืนของชาวบ้านว่า “นิคมอุตสาหกรรมจะนะต้นแบบ” จะมีผลเสียมากมายเกิดขึ้น

แต่หากโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนรวม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และดำเนินการไปตามรูปแบบที่ชุมชนต้องการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ทางกลุ่มพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการ

จากนั้นทั้งหมดจึงได้เคลื่อนขบวนไปยังตัวเมืองจะนะ และไปตั้งเวทีที่ศาลาตลาดนัดจะนะ โดยมีแกนนำนักวิชาการผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย และมีศิลปินแสง ธรรมดา ได้ร้องเพลง “จะนะจะชนะ” ที่แต่งขึ้นมาด้วย โดยไม่ได้ไปขัดขวางหรือก่อกวนเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งสองเวทีแต่อย่างใด

ในขณะที่เวทีแสดงความคิดเห็นที่จัดขึ้นภายในโรงเรียนจะนะวิทยา และเวทีคู่ขนาดที่หน้า อบต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีและยุติลงในเวลาประมาณ 12.00 น. โดยมีประชาชนเข้าร่วม 3 ตำบล 31 หมู่บ้านกว่า 15,000 คน ก่อนที่ชาวบ้านจะเดินทางกลับ รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มาดูแลความเรียบร้อยตลอด 3 วัน ที่ผ่านมา กว่า 1,000 นาย ก็ถอนกำลังกลับเช่นกัน

ขณะที่แหล่งข่าวจากแวดวงการค้าที่ดินใน อ.จะนะ จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้โครงการดังกล่าวจะมีเสียงคัดค้านบางส่วนจากคนในพื้นที่ แต่ได้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจการค้าที่ดินใน อ.จะนะ จ.สงขลา อย่างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายทะเลฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ ต.ตลิ่งชัน ต.สะกอม ต.นาทับ อ.จะนะ ไปถึงเทศบาลตำบลจะนะ ซึ่งเป็นชุมชนเขตเมืองการค้า การเงิน ระยะทางประมาณ 5-10 กิโลเมตร ราคาได้ขยับสูงขึ้น จากปี 2562 ราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวเคลื่อนไหวอยู่ที่ 70,000-150,000 ล้านบาทต่อไร่

แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็น 1.5-2 ล้านบาทต่อไร่ และพื้นที่ริมถนนใหญ่ ตั้งแต่รอยต่อ อ.นาหม่อม กับ อ.จะนะ มีราคาตั้งแต่ 3 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทต่อไร่ สำหรับเป็นพื้นที่เป็นสวนยางพารา จะมีการจัดสรรเป็นแปลงตั้งแต่ขนาด 5-10 ไร่ แบ่งขายกันจำนวนมาก

“คนในพื้นที่มีความมั่นใจว่า หากโครงการขนาดใหญ่ตั้งขึ้นมาจะสามารถจะสร้างแรงงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยไม่ต้องเดินทางไปทำงานในต่างจังหวัด หรือต้องเดินทางทำงานในประเทศมาเลเซีย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากวงการค้าที่ดิน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ที่ดินในเขตรอบนอก ซึ่งเป็นที่ดินกึ่งเมืองกึ่งชนบท ค่อนข้างมีความเคลื่อนไหวที่ดี หลายคนนำที่ดินมาจัดสรรขายรายย่อยในลักษณะผ่อนชำระ ยกตัวอย่างที่ดิน 1 ไร่จะซอยจัดสรรเป็นขนาด 12-16 แปลง ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับกว่า 100,000-120,000 บาทต่อแปลง ผ่อนชำระตามตกลง เป็นราคาระดับที่มีกำลังซื้อของคนในพื้นที่

วันที่ 2 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00 น. เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะนะ จังหวัดสงขลา นำครูและนักเรียนจำนวนมากมาร่วมกันละหมาดฮายัด (หนึ่งในพิธีกรรมศาสนาขอพรพระเจ้า) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อแสดงพลังคัดค้านอย่างสันติต่อการประกาศเปลี่ยนผังเมืองจะนะเป็นเขตอุตสาหกรรม

เนื่องจากการยื่นขอแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 ที่อ้างว่าการแก้ไขผังเมืองรวมเฉพาะบริเวณให้เหมาะกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่สมควรต่อการเปลี่ยนผังเมือง จากพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จึงขอเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม.ต่อเรื่องนี้ และยกเลิกมติคณะกรรมการเปลี่ยนผังเมือง

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายได้เรียกร้องไปยังโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันปอเนาะ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีนักเรียนและบุคลากรกว่าแสนคนออกมาร่วมยืนหยัดไปด้วยกัน

เครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามองว่า จะนะเป็นทั้งอาหารสมองและอาหารทะเล รวมผลิตภัณฑ์เกษตรอาเซียน

“เมื่อรัฐไม่ฟังเสียงประชาชน เครือข่ายจึงยกระดับการต่อสู้ทุกวิถีทางแต่ก็อยู่ภายใต้หลักการอิสลามและกฎหมาย ในการต่อสู้ปกป้องจะนะ “เมืองอุลามาอ์ (ผู้รู้ศาสนาอิสลาม)” ให้เป็นเมืองวิชาการอิสลาม และมีวิถีชีวิตชุมชนอันเป็นแหล่งอาหาร ทั้งสมอง ประมง และเกษตรกรรมของชาติและอาเซียน เพราะวิกฤตโควิดได้เป็นบทเรียนว่าเมืองอุตสาหกรรมมิใช่คำตอบ ซึ่งการประกาศเหตุผลเช่นนี้เป็นการส่งสัญญาณให้รัฐรีบใช้ช่องทางทั้งรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ในการเปิดพื้นที่พูดคุยร่วมแก้ปัญหาหาทางออก มิฉะนั้นปัญหาจะยิ่งลุกลามถ้ารัฐยังดื้อดันใช้ช่องของกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์นายทุน แต่อ้างประชาชน ซึ่งชาวเครือข่ายโรงเรียนเอกชน ชาวบ้านเขารู้สึก”

ส่วนกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้เดินทางมาชุมนุมค้างคืนติดแนวตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการจะนะ เมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

วานนี้ (14 ธ.ค.) นายประสาน หวังรัตนปราณี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แจ้งต่อ นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำกลุ่มฯ และผู้ชุมนุม ว่า พล.อ.ประวิตร มอบหมายให้มีการตั้งคณะทำงานที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงาน และมีนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธานคณะทำงาน

ทันทีที่ตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาได้แล้ว จะไปลงพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเสนอต่างๆ ในการหาทางออกร่วมกัน และพร้อมเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย ก่อนจะนำข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมด รายงานต่อ พล.อ.ประวิตร เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

นายประสานกล่าวว่า นอกจากนี้ จะประสานงานกับกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ชะลอการดำเนินการโครงการดังกล่าวเอาไว้ก่อน พร้อมขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมไว้ใจและสบายใจ เพราะเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะที่ตัวแทนผู้ชุมนุมเรียกร้องขอให้นายประสานนำเอกสารมติคณะรัฐมนตรีที่จะให้ชะลอโครงการนี้ รวมถึงคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันให้กับชาวบ้าน

ต่อมา เวลา 10.35 น. ร.อ.ธรรมนัสเดินทางมาร่วมพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย โดยกล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตรให้มาพูดคุยกับผู้ที่รับความเดือดร้อนจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อสอบถามข้อมูลและหาแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งการหาแนวทางเรื่องนี้จะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยในเบื้องต้นจะไม่มีการประชุมเรื่องผังเมืองในวันที่ 15 ธันวาคม หรือพรุ่งนี้ เพื่อให้ชะลอโครงการดังกล่าวไปก่อน ส่วนหลายประเด็นอื่นๆ ขอให้ไปพูดคุยกันในตึกบัญชาการ และตนคิดว่าจะไปลงพื้นที่ อ.จะนะ ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันตอนนี้อยากให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ที่ขวางทางจราจร

จากนั้น เวลา 10.47 น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล มาร่วมการเจรจาด้วย ซึ่งในที่สุด ผู้ชุมนุมยอมรับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวของฝ่ายรัฐบาล และพร้อมหารือภายในกลุ่มเพื่อย้ายจุดชุมนุมไปอยู่ริมถนนพระราม 5 เพื่อที่จะได้พิจารณาเปิดการจราจรถนนพิษณุโลกต่อไป จากนั้นนายประสานได้เชิญแกนนำกลุ่มฯไปพูดคุยกันต่อที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงการแต่งตั้งคณะทำงานมาดำเนินการในเรื่องนี้

ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ต่อมาว่า จะต้องมีการชะลอโครงการนี้ไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องเริ่มทำการศึกษาใหม่ แต่รายละเอียดคงยังไม่สามารถพูดในตอนนี้ได้ จะต้องให้หน่วยงานต่างๆ และคณะทำงานพูดคุยกันก่อน

ล่าสุด วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเมืองต้นแบบทุกโครงการในพื้นที่ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่ได้ชะลอ เพียงแต่เป็นการสร้างความรับรู้ว่าทำอะไรไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องของประมงด้วย ซึ่งจะไปชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนเข้าใจ

เมื่อถามว่าโครงการจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “จะต้องคุยกันก่อน”

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เราต้องนำกลับมาพิจารณาและทบทวนถึงความเดือดร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการยุติโครงการ ซึ่งในการเจรจากับตัวแทนเครือข่ายก็ได้พูดคุยกันชัดเจนแล้ว ที่สำคัญคือการตั้งคณะอนุกรรมการเข้ามาศึกษาปัญหาเรื่องนี้ที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนมาพูดคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากที่ประชุม ครม.วันนี้ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องตามที่มีการตกลงกัน จะทำให้กลุ่มชมรมปักหลักเรียกร้องอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไปหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ได้พูดคุยกันเข้าใจแล้ว