ของกลางคืออะไร หากตำรวจนำไปใช้จะมีโทษอย่างไร

เปิดความหมายคำว่า
ภาพประกอบไม่เกี่ยวกับเนื้อหา (แฟ้มภาพจากมติชน)

จากคดีตำรวจขับรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา สังคมมีการตั้งคำถามในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่อง “รถบิ๊กไบก์ดูคาติ” คันเกิดเหตุ เป็น “ของกลาง” หรือไม่

วันที่ 24 มกราคม 2565 กรณี ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ.บช.น.ขับบิ๊กไบก์เฉี่ยวชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จักษุแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี ขณะข้ามทางม้าลายหน้า รพ.สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565

ต่อมามีการตั้งข้อสังเกตถึงรถจักรยานยนต์ที่ ส.ต.ต.นรวิชญ์ ขับขี่ ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์ ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ทะเบียน 1กผ9942 เชียงราย เป็นของกลางในคดีอื่นหรือไม่ และมีการนำมาใช้งานโดยพลการหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปิดเผยว่า บิ๊กไบก์คันดังกล่าวเป็นของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ จริง โดยซื้อถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้นำรถโดนยึดมาใช้แต่อย่างใด

ระหว่างรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่า ทีมโฆษก บช.น. จะแถลงชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งในวันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ค้นหาความหมายและข้อปฏิบัติที่มีต่อ “ของกลาง” ดังนี้

ความหมายคำว่า “ของกลาง”

ตามประมวลระเบียบการตํารวจเกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 15 บทที่ 1 ให้ความหมายคำว่าของกลางไว้ว่า วัตถุใด ๆ หรือทรัพย์สินซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าพนักงาน ฯลฯ และยึดไว้เป็นของกลางเพื่อพิสูจนในทางคดี หรีอจัดการอย่างอี่นตามหน้าที่ราชการ แบ่งได้ 2 ประเภทคือ

1.ของกลางในคดีอาญาคือสิ่งของที่เกี่ยวข้องต้องจัดการทางคดีอาญา เช่น สิ่งของที่บุคคลมีไว้เป็นความผิดหรือที่ใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิด และ 2. ของกลางอย่างอื่น คือของกลางที่ไม่เข้าในลักษณะของกลางในคดีอาญา เช่น ของที่เก็บได้จากการตกหล่น หลุด หรือลอย เป็นต้น

รถของกลาง

นอกจากนี้ ยังมีระบุถึงของกลางประเภทรถด้วยว่า “รถของกลาง หมายถึง รถซึ่งตกมาอยู่ในความคุ้มครองของเจ้าหน้าที่โดยอํานาจแห่งกฎหมาย หรือโดยหน้าที่ในทางราชการ และยึดไว้ เพื่อพิสูจน์ในทางคดีหรือจัดการอย่างอื่นตามหน้าที่ราชการ

เมื่อทำการยึดรถไว้แล้ว ให้ผู้ยึดหรือผู้จับกุมทำการส่งให้พนักงานสอบสวนโดยด่วน หากนำส่งล่าช้าต้องบันทึกเหตุกำกับไว้ด้วย และให้พนักงานสอบสวนประกาศหาเจ้าของหรือผู้มีสิทธิ์เพื่อมารับคืนกลับไป

ห้ามนำรถของกลางไปใช้

ที่สำคัญ ในบันทึกตร. ที่ 0004.6/6318 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 เรื่องกําชับแนวปฏิบัติในการตรวจยึด
รถของกลาง ฯลฯ ระบุชัดเจนว่า “ห้ามมิให้นำรถของกลางออกไปใช้ไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือเพื่อประโยชน์ของทางราชการ หากมีกรณีฝ่าฝืน หัวหน้าหน่วยงานจะต้องถูกพิจารณาโทษด้วย”

ซึ่งโทษที่จะได้รับเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากญาติพี่น้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือคนรู้จักที่นำรถไปใช้มีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องรับโทษ 2 ใน 3 ของโทษ 10 ปี หรือประมาณ 6 ปี