เปิดใจยอมรับความจริง แก้ปัญหาพันธุ์ข้าว

ข้าว
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ
[email protected].

นับเป็นเวลาหลายปีมากแล้วที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ออกมาส่ง “เมสเสจ” ให้รัฐแก้ปัญหาพันธุ์ข้าวไทย จากที่ได้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยลดลงเรื่อย ๆ มาจากที่ไทยเคยเป็นแชมป์ส่งออกปีละ 10 ล้านตัน ตกมาอยู่อันดับ 2 อันดับ 3 บ้าง เบียด ๆ กับเวียดนาม ประมาณปีละ 6-7 ล้านตัน

ผู้ส่งออกสะท้อนว่าสาเหตุที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไทยไม่มีสายพันธุ์ข้าวที่จะไปสู้ ตลาดต้องการพันธุ์ข้าวขาวที่มีความนุ่ม ที่เรียกว่า ข้าวขาวพื้นนุ่ม เพื่อจะมาเป็นตัวไฟติ้ง เพราะจุดเด่นข้าวกลุ่มนี้ คุณภาพดีกว่าข้าวขาว มีความนุ่มแต่ราคาถูกกว่าข้าวหอม ทำให้คนหันมาบริโภคมากขึ้น ทำให้เวียดนามเร่งพัฒนาข้าวขาวพื้นนุ่มออกมาหลายสายพันธุ์

กรมการข้าวก็ออกโรง แจงว่าปีนี้ได้มีการรับรองสายพันธุ์แล้ว 4 สายพันธุ์ คือ กข 93 (พุ่มพวงเมืองสองแคว) กข95 (ดกเจ้าพระยา) กข97 (หอมรังสิต) และกข 101 (ทุ่งหลวงรังสิต)

แต่มาถึงตอนนี้ก็โป๊ะแตกว่าชาวนาไทยหันไปขโมยสายพันธุ์ข้าวจากเพื่อนบ้านเวียดนามที่รู้จักกันในนาม “ข้าวหอมพวง” มาปลูกแบบผิดกฎหมาย ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการประมาณหลัก “ล้านไร่” ในช่วงเพียง 5 ปี

ทำไมชาวนากล้าเสี่ยงไปปลูกสายพันธุ์นี้

คำตอบ คือ ระยะเวลาปลูกสั้นแค่ 90 วัน เทียบกับข้าวไทยปลูก 120 วัน ทั้งยังมีผลผลิตต่อไร่ 1.2 ตัน เทียบกับข้าวไทย 350-400 กก. หารเฉลี่ยออกมาอย่างไร ต้นทุนต่อไร่ก็ต่ำกว่า แถมได้เงินเร็ว และอาจจะได้เงินเบิ้ลจากประกันรายได้ด้วย เพราะการแจ้งสายพันธุ์เป็นข้าวขาว (จำนวนเจ้าหน้าที่ก็ไม่เพียงพอจะลงไปไล่ตรวจหรือจับกุมชาวนา)

ปรากฏการณ์ตอนนี้ข้าวขาวพื้นนุ่มเข้าแทรกกินส่วนแบ่งตลาดตรงกลางระหว่างข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งเดิมเคยเป็นที่นั่งของข้าวหอมปทุมตอนนี้หายไป เช่นเดียวกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองขาวเจ๊กเชยเสาไห้ ที่ไม่มีการนำมาส่งออกเชิงพาณิชย์แล้ว ด้วยความต่างของราคา ที่ปัจจุบันผู้ส่งออกรับซื้อข้าวสารหอมพวง กก.ละ 15.80-16.00 บาท ข้าวขาว กก.ละ 14.30-14.50 บาท ส่วนข้าวหอมมะลิ กก.ละ 24-25 บาท

อนาคตข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวที่ประเทศไทยภาคภูมิใจ ในเอกลักษณ์คุณภาพความนุ่มความหอม เคยส่งออกปีละ 2-3 ล้านตัน ไม่เพียงถูกท้าทายด้วยข้าวหอมพวง แต่ยังถูกท้าทายด้วยข้าวหอมเพื่อนบ้านอย่าง “ผกาลำดวน”

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าว จากบริษัท อุทัยโปรดิ้วซ์ จำกัด ซึ่งทุกคนในวงการรู้ว่าท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย ถึงขั้นบอกว่า หลายปีที่ผ่านมาความหอมของข้าวหอมมะลิลดลงไปมาก สมัยก่อนแค่เดินผ่านทุ่งนาข้าวหอมมะลิ หรือผ่านโรงสีที่สีข้าวหอมมะลิก็หอมจนรู้เลยว่ากำลังปลูก หรือกำลังสีข้าวหอมมะลิอยู่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

“เรื่องข้าวผกาลำดวนเฉือนชนะข้าวหอมมะลิไทยขึ้นเป็นแชมป์ต่อเนื่องนับ 6-7 สมัยเราไม่เคยประกาศ ซึ่งหลายคนในวงการข้าวมองตรงกันว่าไม่ต้องตื่นเต้นเพราะหน้าฉากคือการประกวด แต่หลังฉากคือข้าวเดียวกัน เพียงแต่แตกต่างกันตรงที่ ‘ดินในนาข้าว’ ของกัมพูชา ยังบริสุทธิ์มีการใช้สารเคมีน้อยกว่า แต่คำถามคือจะแก้ปัญหาพันธุ์อย่างไร”

นายเจริญแนะนำว่า ควรเริ่มจากการยอมรับความจริงเสียก่อน จากนั้นยกยุทธศาสตร์ที่วางไว้มากำหนดแนวทางร่วมกัน ระหว่างต้นทางคนปลูก-กลางทางโรงสี-ปลายทางผู้ส่งออก แต่ที่สำคัญ ต้องแก้กฎหมายล้าสมัยที่เป็นข้อจำกัดในการนำพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศเข้ามาผสม เพื่อพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ด้วย

แน่นอนว่าหากไทยมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยที่ดีกว่าหอมพวง ชาวนาเห็นว่าปลูกแล้วมีรายได้มากกว่า เขาจะหันมาปลูกเอง ดีกว่าจะให้รัฐไปไล่จับชาวนาที่ปลูกข้าวหอมพวง และการใช้ประกันรายได้ระยะยาวยากที่จะมีงบประมาณมาเพิ่มให้กับชาวนาในแต่ละปีจึงไม่ใช่แนวทางยั่งยืน ดังนั้นทางที่ดีนำเงินนั้นมาสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ให้กรมการข้าว และค่อย ๆ ลดประกันรายได้ลงจะดีกว่า