ข้าวนาปีอย่าปลูกเกินแผน

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า นับตั้งแต่บัดนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือภาวะฝนน้อย-น้ำน้อย โดยแบบจำลอง NOAA ระบุว่า ภาวะฝนน้อย-น้ำน้อยได้เริ่มขึ้นแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 และมีโอกาสมากกว่า 90% ที่ภาวะเอลนีโญจะมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 นั่นหมายถึง แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนไปแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยก็จะลดลงจากภาวะฝนทิ้งช่วง

จากการพิจารณาสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า มีปริมาตรน้ำในอ่าง 39,788 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ขณะที่ปริมาตรน้ำใช้การได้อยู่ที่ 15,849 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ปริมาตรน้ำในอ่าง

โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 4,551 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 25

นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เหลือน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 อีก 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนคลองสียัด เขื่อนนฤบดินทรจินดา และเขื่อนปราณบุรี ที่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างน้อยมาก

ส่งผลให้ในขณะนี้บางอ่างเก็บน้ำต้องบริหารจัดการน้ำให้คงเหลือไปจนถึงสิ้นปี ด้วยการ “งด” ส่งน้ำเพื่อการเกษตรไปบ้างแล้ว เว้นแต่จะมีพายุเข้ามาพัดผ่านในพื้นที่เพียงพอที่ปริมาตรน้ำในเขื่อนจะเพิ่มขึ้น

ด้าน กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2566 (1 พ.ค.-31 ต.ค. 2566) จาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา ไว้ที่ปริมาณ 5,500 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นระบบนิเวศ 55 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 2

การอุปโภค-บริโภค 165 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 3 อุตสาหกรรม 110 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 2 และการเกษตร 5,170 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 94 ในขณะนี้ใช้น้ำไปแล้ว 2,123 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39

จะเห็นได้ว่า ตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝน ส่วนใหญ่จะจัดสรรให้กับภาคการเกษตรมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 94 เพื่อหล่อเลี้ยงการปลูกข้าวนาปี 2566 ตามแผนการเพาะปลูกที่วางเอาไว้ 8.05 ล้านไร่ หรือปลูกไปแล้ว 4.22 ล้านไร่

แต่เนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ “ฝนน้อย-น้ำน้อย” ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำหลักทั่วประเทศจะต้องลดน้อยลงด้วย จนเกิดความไม่แน่นอนที่ว่า ถึงที่สุดแล้วจะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรมได้ตามแผนการจัดสรรน้ำได้หรือไม่

จึงควรที่เกษตรกรจะต้องเร่งรับมือภาวะฝนน้อยที่จะเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดจะต้องปลูกข้าวไม่ให้เกินไปกว่าแผนการเพาะปลูกที่วางเอาไว้ พร้อมกับเร่งสำรองน้ำไว้ไม่เพียงแต่ในช่วงฤดูฝนนี้ แต่จะต้องสำรองไว้ไปจนถึงฤดูแล้งหน้าของปี 2567 ด้วย