
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด ผู้เขียน : รศ.ดร.อภิรดี วงศ์กิจรุ่งเรือง มหาวิทยาลัยมหิดล พริ้มเพรา กิจพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์
บทบาทในการกำกับดูแลสถาบันการเงินของธนาคารกลาง คือ การทำให้ผู้ที่ควรจะได้รับสินเชื่อแต่ยังเข้าไม่ถึง สามารถได้รับสินเชื่อ เป็นประเด็นที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นในปี 2557
ซึ่งในระยะต่อมา แบงก์ชาติและระบบสถาบันการเงินได้พัฒนา PromptPay โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินสำคัญ จนเป็นรากฐานให้เกิดโอกาสที่ financial technology (FinTech) เติบโตอย่างก้าวกระโดด
- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- ครม.เคาะขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% เริ่มงวดแรกปี 2567
- คลังดึงออมสิน ช่วยแก้หนี้นอกระบบ พร้อมปล่อยกู้ 5 หมื่นบาทต่อราย
อย่างไรก็ดี FinTech เอื้อระบบสถาบันการเงินให้ตอบโจทย์ในการทำให้ผู้ที่ควรจะได้รับสินเชื่อแต่ยังเข้าไม่ถึงนั้น สามารถได้รับสินเชื่อ แล้วหรือไม่อย่างไร ?
คำถามดังกล่าวเป็นการบ้านที่ รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัย เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลของภาคการเงิน ภายใต้แผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน ระยะที่ 2 ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัย ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ทีมคณะผู้วิจัยย่อยทำการศึกษา
โดยแถมเพิ่มเติมด้วยว่าหาก FinTech ยังไม่ได้ทำหน้าที่นี้ได้อย่างเต็มที่ แล้วปัจจัยใดจะช่วยให้ FinTech เป็นกุญแจปลดล็อกให้ผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะ SMEs จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเพียงพอในการต่อยอดธุรกิจได้
แนวทางหนึ่งที่คณะผู้วิจัย ได้หยิบยกมาใช้ทำการศึกษา คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพที่มุ่งทำความเข้าใจผ่านการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายเชิงลึก คือ SMEs ที่มีหลากหลายในเชิงพื้นที่ กิจกรรม การเข้าถึงบริการทางการเงิน และ FinTech ภายใต้การสนับสนุนจาก คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และคุณนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ทำให้ได้มุมมอง ที่ขอสรุปเป็นลักษณะร่วมเบื้องต้น ดังนี้
SMEs ใช้เงินของตัวเอง หรือช่องทางการเงินอื่น ๆ เป็นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจ
ผลจากการทำ pretest เบื้องต้นก่อนที่เราจะสำรวจเชิงลึกสะท้อนว่า SMEs ส่วนใหญ่ใช้เงินของตัวเอง ทั้งจากกำไรสะสม การผันสินทรัพย์ที่มีอยู่ หรือการหยิบยืมจากครอบครัวและคนรู้จัก มาเป็นทุนหลักในการดำเนินธุรกิจ
ซึ่งได้รับการยืนยันจากการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายว่านี่เป็นลักษณะร่วมสำคัญที่ SMEs หลากหลายสาขา พื้นที่ และผลประกอบการทั้งดีและไม่ดี ต่างตอบใกล้เคียงกัน โดยในกลุ่ม SMEs เก่าแก่รากฐานดีย่อมมีทุนรอนในการดำเนินการ SMEs หน้าใหม่เองก็เริ่มจากทุนประเดิมที่พอหาได้
การใช้เงินของตัวเองสะท้อนความพร้อมในการประกอบการที่ทำให้การตัดสินใจประกอบธุรกิจต้องผ่านการไตร่ตรองมาอย่างดีก่อนที่จะลงมือเล่นจริงเจ็บจริง หรือการ skin in the game แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการประกอบธุรกิจแต่ขาดแหล่งเงินทุนที่เพียงพอด้วยต้นทุนที่เหมาะสมอาจไม่ได้รับโอกาสในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดให้การเติบโตทางธุรกิจของไทยไม่กระจายตัวเท่าที่ควร
สถาบันการเงินยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่จากข้อมูลการดำเนินธุรกิจ SMEs ประกอบการให้บริการ
ประเด็นร่วมที่ SMEs ให้สัมภาษณ์เชิงลึกคล้ายคลึงกัน คือ สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารที่ใช้บริการอยู่นั้น ให้น้ำหนักกับปัญหาที่ผ่านไปแล้ว อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด มากกว่าโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่ฟื้นตัวขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนถึงขอบเขตในการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมของผู้ให้บริการทางการเงิน
โดยเฉพาะข้อมูลการประกอบการที่มีหลักฐานชัดเจน และธนาคารสามารถเข้าถึงได้ เช่น ข้อมูลการเดินบัญชี ที่มีบันทึกธุรกรรมการค้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงชีพจรของการดำเนินธุรกิจทั้งในด้านสภาพคล่อง ฤดูกาล และปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ
ความเชื่อหนึ่งที่ค่อนข้างแพร่หลาย คือ SMEs มีหลายบัญชี จึงไม่อยากเปิดเผยข้อมูลให้สถาบันการเงินทราบ เพราะกลัวว่าข้อมูลจะนำไปสู่การถูกเรียกเก็บภาษี อย่างไรก็ดี SMEs ในกลุ่มตัวอย่าง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ต้องอาศัยช่องทางดิจิทัลในการประกอบธุรกิจทั้งกับซัพพลายเออร์ และคู่ค้า มีความเข้าใจถึงประโยชน์ในการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ และยินดีชั่งน้ำหนักของการทำบัญชีเดียว หากได้รับการอำนวยความสะดวกจากการประสานงานกับภาครัฐและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
FinTech มีศักยภาพในการปิดช่องว่างการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินในปัจจุบัน
ความรู้สึกชื่นชมร่วมกันของ SMEs กลุ่มเป้าหมายที่มีต่อการให้บริการของสถาบันการเงินในปัจจุบัน คือ มีพนักงานให้บริการที่สาขาที่ไว้วางใจได้ มีความเข้าใจลูกค้า และให้บริการตรงความต้องการ
อย่างไรก็ดี การอาศัยมนุษย์เป็นคนกลางในการดำเนินการ ก็ก่อให้เกิดอุปสรรคทางตรง เช่น การดำเนินการตามขั้นตอนพิธีการที่ต้องประสานงานกับสำนักงานใหญ่ที่ต้องใช้ระยะเวลา ตลอดจน ในบางครั้งการให้บริการก็ขึ้นกับการตัดสินใจของพนักงานที่จะผลักดันการเสนอเรื่องต่อหรือไม่ ทำให้ SMEs ยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ สถาบันการเงินจะอาศัยหลักฐานทางการเงิน อาทิ งบการเงินซึ่งมีความถี่เป็นรายปี กว่าจะผ่านกระบวนการตรวจสอบบัญชี ทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือการวางแผนทางการเงินเพื่อการลงทุนในอนาคต แม้ว่าโอกาสทางธุรกิจจะมีความชัดเจนเพียงใดก็ตาม
SMEs ที่แม้จะไม่ได้คุ้นเคยกับ FinTech มาก่อน แต่พอได้รับฟังถึงตัวอย่างการใช้งานในต่างประเทศ ก็สามารถให้ความเห็นต่อยอดโอกาสที่ FinTech จะสามารถปิดช่องว่างการให้บริการของสถาบันการเงินในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในการลดขั้นตอนและตัวกลางที่ต้องอาศัยการตัดสินใจของมนุษย์ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อสะท้อนศักยภาพทางธุรกิจประกอบการอนุมัติพิจารณาสินเชื่อ
โดย SMEs อาจจะยังมีความกังวลในประเด็นของความปลอดภัย และการขาดความรู้และทักษะในการทำงานร่วมกับ FinTech แต่ก็พร้อมจะเรียนรู้ร่วมกับผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐ
โดยสรุปแล้ว การทำให้ผู้ที่ควรได้รับสินเชื่อแต่ยังเข้าไม่ถึง สามารถเข้าถึงได้นั้น ยังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กระจายตัวอย่างทั่วถึงได้ เสียงสะท้อนของ SMEs จากพฤติกรรมที่ยังต้องใช้เงินทุนตัวเอง
รวมถึงการไม่สามารถใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้เต็มที่ ตลอดจนความพร้อมที่จะใช้งาน FinTech ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัย แสดงถึงโอกาสสำคัญที่ FinTech จะเป็นกุญแจปลดล็อกศักยภาพ SMEs ไทยได้ เพื่อให้ financial inclusion เกิดขึ้นควบคู่ไปกับ digital adoption ในภาคการชำระเงินไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามแล้ว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด