ส่องศักยภาพธุรกิจไทย ผ่านมุมมอง ESG

BRITAIN-FRANCE-ENERGY-GAS-TOTAL
(ภาพโดย ANDY BUCHANAN / AFP)
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ภวิกา กล้าหาญ
        Krungthai COMPASS

ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม (environmental) สังคม (social) และการกำกับดูแลที่ดี (governance) หรือ ESG และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ หนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เป็นรูปธรรม คือ คะแนน ESG ที่จัดทำโดยองค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้เห็นถึงพัฒนาการด้าน ESG ของธุรกิจไทย

บทความนี้ Krungthai COMPASS จึงขอชวนทุกท่านมาติดตามผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจใดบ้างที่เป็นผู้นำด้าน ESG และกลุ่มใดบ้างที่ต้องเร่งปรับตัว ผ่านการวิเคราะห์คะแนน ESG ที่จัดทำโดย S&P Global (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ก.ย. 2566) ครอบคลุม 148 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์) ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกันราว 83% ของ SET Market Cap.

หากมองในภาพรวม บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของไทยได้รับการประเมินคะแนน ESG อยู่ในช่วง 3 ถึง 93 คะแนน ซึ่งนับว่ามีคะแนนที่ค่อนข้างกระจายตัว โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

อีกทั้งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่กว่า 59% มีคะแนนอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 คะแนน โดยกลุ่มที่มีคะแนน ESG ในระดับสูงกว่า 60 คะแนนนั้น เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ แม้ว่าในกลุ่มนี้จะมีจำนวนบริษัทคิดเป็นเพียง 28% เท่านั้น แต่มี Market Cap. รวมกันมากถึง 76% ของกลุ่มตัวอย่าง

สิ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศร่วมด้วยมีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดีกว่า สะท้อนจากคะแนน ESG เฉลี่ยเท่ากับ 44 คะแนน และมีสัดส่วนของบริษัทที่มีคะแนนมากกว่า 60 คะแนน ราว 35% จากกลุ่มตัวอย่าง 105 บริษัท ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 68% ของ SET Market Cap.

ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจภายในประเทศเท่านั้นมีคะแนน ESG เฉลี่ยเท่ากับ 23 คะแนน มีสัดส่วนของบริษัทที่มีคะแนนมากกว่า 60 คะแนนเพียง 9% สะท้อนว่าศักยภาพด้าน ESG เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

หากเจาะลึกลงไปในระดับกลุ่มธุรกิจ เริ่มจากกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้าน ESG สูง เช่น ธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค พบว่า บริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีผลการดำเนินงานด้าน ESG อยู่ในระดับสูง โดยมีคะแนน ESG เฉลี่ยอยู่ที่ 85 คะแนน ซึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มธุรกิจนี้มีความเสี่ยงด้าน ESG อยู่ในระดับสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการมีการตื่นตัวต่อการดำเนินงานด้าน ESG มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ

แต่สำหรับธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค แม้จะมีความเสี่ยงด้าน ESG อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน แต่ยังมีคะแนน ESG เฉลี่ยทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดีอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนว่ายังมีสิ่งที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นทั้ง 3 มิติ

แม้ว่าที่ผ่านมา ภาคธุรกิจไทยจะมีพัฒนาการของการดำเนินธุรกิจบนฐานความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง และบริษัทไทยบางส่วนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในด้าน ESG มีศักยภาพเทียบเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศ จากการที่มี 26 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของไทย ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในดัชนีด้านความยั่งยืน DJSI * รวมถึง 12 บริษัทไทยถูกจัดอยู่ใน Top 1% S&P Global ESG Score ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่มีบริษัทถูกจัดอันดับอยู่ใน class ดังกล่าวมากที่สุด จากทั้งหมด 45 ประเทศทั่วโลก รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา

แต่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังต้องเร่งพัฒนาการดำเนินงานด้าน ESG ในทุกมิติให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญและทัดเทียมกับคู่แข่ง ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะ 1) ธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้ส่งออก

รวมถึงธุรกิจที่อยู่ใน supply chain และ 2) ธุรกิจที่มีคะแนน ESG ระดับต่ำแต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้าน ESG ในระดับปานกลางถึงสูง เช่น กลุ่มธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ประกัน ก่อสร้าง กระดาษและวัสดุการพิมพ์ รวมถึงเครื่องจักรอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีผลคะแนนของทั้ง 3 มิติต่ำกว่า 30 คะแนน และมีคะแนนของมิติสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด

ทั้งนี้ การยกระดับด้าน ESG ของผู้ประกอบการไทยให้ดียิ่งขึ้น จะส่งผลทางบวกต่อการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว พร้อมทั้งลดความเสี่ยงด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในมิติสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นับเป็นปัจจัยฉุดรั้งของหลายธุรกิจ

ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และด้านเงินทุนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจอย่างเหมาะสม รวมทั้งอาจพิจารณาใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ ภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนและพัฒนาในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หมายเหตุ – * รายชื่อสมาชิกในกลุ่ม DJSI ณ 19 ธ.ค. 2565,** S&P Global Sustainability Yearbook 2023