จับชีพจรท่องเที่ยวไทยปีมังกร พร้อมกลับสู่ระดับ Pre-COVID แล้วหรือยัง ?

ท่องเที่ยว
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : ธนา ตุลยกิจวัตร
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

แม้ภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2566 ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ แต่ก็ยังส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังไทยถึง 28.2 ล้านคน เติบโตขึ้นกว่า 154% เมื่อเทียบกับปี 2565 ฟื้นตัวได้ราว 71% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19

ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับมาเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นปกติจนมีจำนวนสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 249 ล้านคนครั้ง แต่การใช้จ่ายต่อคนยังต่ำกว่าปี 2562 ถึง 27% ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2566 อยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2562) ราว 27% และยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ ททท. วางไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท ราว 8.7%

สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยในปีมังกร 2567 นี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 34 ล้านคน หรือฟื้นตัวราว 85%

ก่อนที่จะเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนโควิด-19 ในปี 2568 ที่จำนวน 38.5 ล้านคน คิดเป็นการฟื้นตัวราว 96% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่จะฟื้นตัวในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2567 ได้แก่ กลุ่มอาเซียน อินเดีย รัสเซีย รวมถึงกลุ่มยุโรป

ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านคน ในปี 2566 มาเป็น 7 ล้านคน ในปี 2567 ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2562 อยู่ 37% ในส่วนของนักท่องเที่ยวไทย คาดว่าจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 2.52 ล้านล้านบาท หรือฟื้นตัวราว 84% เมื่อเทียบกับปี 2562

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า 4 ปัจจัยหลัก ที่จะผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องมีดังนี้

1.นักท่องเที่ยวทั่วโลกยังมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวอยู่ในระดับสูง สะท้อนจากข้อมูลล่าสุดขององค์การท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ชี้ให้เห็นว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกในปี 2566 ฟื้นตัวได้ราว 90% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง

สอดคล้องกับข้อมูลจากสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (PATA) ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มประเทศ Asia Pacific จะขยายตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 728 ล้านคน และ 788 ล้านคน ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ราว 6-15%

2.การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจีนยังเป็นความหวังสำคัญของภาคการท่องเที่ยวไทย โดยภาครัฐได้ออกมาตรการวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการถาวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งหลังจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกไป ส่งผลให้ยอดค้นหาคำว่า “ประเทศไทย” บนแพลตฟอร์มของซีทริป กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการเดินทางท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน เพิ่มขึ้นกว่า 90%

ขณะที่ยอดค้นหาเที่ยวบินเส้นทางเซี่ยงไฮ้-กรุงเทพฯ และปักกิ่ง-กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นกว่า 40% นอกจากนี้ ประเทศไทยยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน Top Destination ของนักท่องเที่ยวจีนอีกด้วย โดยจากผลการสำรวจ ณ ก.ย. 2566 ของ Dragon Trail International พบว่า หากไม่นับรวมฮ่องกง มาเก๊า ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Greater China นักท่องเที่ยวจีนยังคงสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

3.อุตสาหกรรมการบินมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงพอที่จะรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเติบโตขึ้นในปี 2567-2568 โดยสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ในปี 2567 ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศและในประเทศของไทยจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว

ทั้งนี้ AOT ได้เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารมากขึ้นถึง 33% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนเที่ยวบินโดยรวมในปี 2567-2568 จะฟื้นตัวได้ราว 90-101% เมื่อเทียบกับปี 2562

4.มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีการออกนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการยกเว้นวีซ่า (Visa Free) สำหรับชาวจีน คาซัคสถาน อินเดีย และไต้หวัน รวมทั้งมาตรการขยายระยะเวลายกเว้นการตรวจลงตราให้นักท่องเที่ยวรัสเซียสามารถพำนักในไทยได้สูงสุดจากเดิม 30 วัน เป็น 90 วัน อีกทั้งยังมีมาตรการขยายเวลาให้บริการของสถานประกอบการได้ถึงตี 4 ในเขตพื้นที่นำร่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยนานขึ้น

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS มองว่า มาตรการที่อาจช่วยขับเคลื่อนภาคท่องเที่ยว ไทยในระยะ 1-2 ปีนี้ ได้แก่ 1) กระตุ้นให้เกิดกระแสการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี เพื่ออุดช่องว่างช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว 2) จูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาเที่ยวไทยซ้ำ เพื่อช่วยเร่งให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น และ 3) ยกระดับความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดี โดยเฉพาะในสายตาของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างสูง