ไฮสปีด EEC เดิมพันอนาคตประเทศ

แฟ้มภาพ
บทบรรณาธิการ

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หรือไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่าลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ที่เปิดให้เอกชนร่วมทุน และเป็น 1 ใน 5 โปรเจ็กต์หลักในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาถึงจุดเปลี่ยนที่สาธารณชนกำลังจับตา

เพราะการเจรจาต่อรองระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เจ้าของโครงการ กับผู้ชนะการประมูล คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ที่ชนะการประมูล และยืดเยื้อมานานอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนถึงเดดไลน์ที่ภาครัฐกำหนดเงื่อนเวลาให้เอกชนต้องลงนามในสัญญาภายใน 15 ต.ค. 2562

จึงเหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่จะชี้ว่า บริษัทในเครือ ซี.พี.กับพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ชนะการเปิดซองประมูล จะได้เดินหน้าก่อสร้างไฮสปีด EEC หรือต้องเปิดทางให้เอกชนที่ได้อันดับที่ 2 ได้แก่ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR joint venture) ที่มี บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เป็นแกนนำเข้าเจรจากับรัฐแทน

ความคืบหน้าล่าสุด แม้รองนายกฯอนุทิน ชาญวีรกุล กับศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ รมช.คมนาคม ซึ่งก่อนหน้านี้เร่งรัดกดดันให้กลุ่ม CPH ให้คำตอบ และบอกปัดทุกข้อเรียกร้องของเอกชนจะมีท่าทีอ่อนลง และยืนยันจะไม่เรียกรายที่ 2 มาเจรจาหรือล้มประมูลแล้วเปิดประมูลใหม่ แต่ไม่อาจวางใจได้ว่าโครงการนี้จะเดินหน้าได้ฉลุย

ในส่วนของเอกชน ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่มูลค่าลงทุนมหาศาลเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เพราะแม้จะเป็นการลงทุนซื้ออนาคต แต่ความเสี่ยงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองก็สูงตามไปด้วย

ขณะที่ภาครัฐก็คาดหวังและพยายามทุกวิถีทางในการขับเคลื่อนโครงการ EEC ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงรัฐบาล เพื่อผลักดันการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พลิกโฉมอนาคตประเทศไทยให้เศรษฐกิจเติบโตได้ก้าวกระโดดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เอกชนกับรัฐบาลเท่านั้นที่ต้องวางเดิมพันกับโครงการ EEC ไว้ค่อนข้างสูง แต่เท่ากับเป็นการเดิมพันอนาคตประเทศ และอนาคตของคนไทยทั้ง 65 ล้านคน ไม่รวมคนรุ่นลูกหลานในวันข้างหน้าอีกส่วนหนึ่ง

ในฐานะผู้บริหารจัดการประเทศ และเป็นผู้ริเริ่มผลักดันอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเอเชียอีกครั้ง รัฐบาลจึงต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าไฮสปีด EEC จะตอกเข็มได้เร็วหรือช้า หรืออยู่ในมือเอกชนรายไหน แต่ทุกการตัดสินใจยึดประโยชน์ส่วนรวม และประเทศชาติเป็นที่ตั้ง

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม.. ยื้อไฮสปีดกระทบเชื่อมั่นEEC ซี.พี.ติดล็อกเงินกู้2แสนล้าน