ผู้ว่าฯ กทม. ทักษิณ ไม่เคยชนะ

สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดขึ้นอย่างเร็วเดือนเมษายน อย่างช้าเดือนพฤษภาคม 2565

ที่เปิดหน้ามาจนช้ำชนะตามโพล คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศว่าลงรับสมัครในนาม “อิสระ” ภายใต้การสนับสนุนหลักอย่างไม่เป็นทางการของเครือข่ายพรรคเพื่อไทย (พท.)

ตามคำบอกเล่าของนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยระบุว่า พรรคจะไม่ส่งผู้สมัครไปตัดคะแนน แต่มีสัญญาใจ-ให้ชัชชาติ โฟนอินทะลุห้องประชุมใหญ่ย่านเพชรบุรี ยืนยันสัญญาณแม้ไม่สู้ในนามพรรค ถ้าชนะจะร่วมงานกับทีมเพื่อไทย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

ชัชชาติ อยู่ในลู่คนเดียวมานานกว่าครึ่งปี ท่ามกลางการพลิกผันเปลี่ยนโผของตัวแทนจากเครือข่ายอำนาจ “3 ป.” แห่งพลังประชารัฐ (พปชร.) ชัดยิ่งกว่าชัดคือไม่หนุน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่เคยดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็กวาดกำลังรวบตึงเข้าเป็นแกนในพรรค

หลังตกลงเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ได้ พลังประชารัฐเตรียมคลี่ม่านการเมือง ส่งผู้ว่าฯหมูป่า “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ท้าชิงประมุขเสาชิงช้า แต่ก็ต้องเก็บฉาก ปิดเวทีไปในเวลาต่อมา

 

โอกาสของฝ่าย 3 ป. ที่จะคว้าชัยชนะเลือกตั้งสนาม กทม. อาจจะยังเร็วไปที่จะประเมินว่า “ขาดลอย” เพราะอย่างน้อยก็มีก้างตำคอ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่คว้านักวิชาการด้านวิศวกร สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ที่เปิดตัวสร้างภาพกับคนกรุงมาแล้วระยะหนึ่ง

ประวัติการเมือง ชัยชนะของผู้ว่าฯ กทม. มักจะมาจากผู้สมัครที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรครัฐบาล ตอบโจทย์ประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาล โดยเลือกฝ่ายค้านหรืออิสระมาแทน

ช่วงที่ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจ จึงพ่ายแพ้สนาม กทม. มาโดยตลอด สาเหตุมีทั้งปัจจัยขัดแย้งภายในระหว่าง “เจ้าแม่ กทม.” กับท่อของทุน ที่ไปไม่ถึงพื้นที่

ยุคไทยรักไทย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ต้องพ่ายแพ้แก่ สมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทย ในการเลือกตั้งปี 2543 คะแนนทิ้งห่างเกือบครึ่งต่อครึ่ง

สมัยต่อมาในปี 2547 ไทยรักไทยไม่ส่งผู้สมัคร แต่หนุนหลัง ปวีณา หงสกุล ผลพ่ายแพ้ให้กับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ แต่ความตาลปัตรเกิดขึ้น เมื่อปีต่อมา 2548 ไทยรักไทยได้ชัยชนะสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม. แบบแลนด์สไลด์ 32 ที่นั่ง จากทั้งหมด 37 เขต

ไทยรักไทยถูกยุบ สู่ยุคพรรคพลังประชาชน สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กุมบังเหียนใหญ่ ส่ง ประภัสร์ จงสงวน ไปพ่ายแพ้แก่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ซ้ำสมัยที่ 2 ในปี 2551 แต่อภิรักษ์ต้องพิษปมทุจริตลาออกก่อนหมดสมัย

ผ่านพ้นยุคพลังประชาชน สู่ยุคพรรคเพื่อไทย ส่ง ยุรนันท์ ภมรมนตรี ลงแข่ง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประชาธิปัตย์ ในปี 2552

เลือกตั้งปี 2556 พรรคเพื่อไทย ส่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ลงสู้อีกรอบ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อีกครั้ง ด้วยแคมเปญครีเอตความกลัว “หยุดทักษิณ” และ “ไม่เลือกเราเขามาแน่”

ยุคหลังรัฐประหาร 2557 พล.ต.อ.อัศวิน ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนที่ คณะรัฐประหาร คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง แต่สร้างผลงานได้ย่ำแย่ 7 ปี

การต่อสู้ครั้งใหม่กำลังจะเกิดขึ้น ทฤษฎีเก่าที่ว่า คนกรุงเทพฯ เลือกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะถูกฉีกทิ้ง

ไม่ควรลืมว่า ฝ่ายทักษิณ ต่อสู้ในสนาม กทม.ไม่เคยชนะ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน มาถึงยุคเพื่อไทย ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มา 6 สมัย 24 ปี ฝ่ายทักษิณแพ้ทุกครั้ง

การศึกในกลางปี 2565 ปัจจัยชี้ขาดอาจไม่ใช่ความเบื่อแหนงหน่ายรัฐบาลพลังประชารัฐ การเลือกเพื่อระบายความคับแค้นของคนกรุง แต่ยังมีปัจจัย “ทุนใหญ่-ทุนกลาง” ที่หนุนถึงทั้ง 2 ขั้ว

เพื่อให้เครือข่ายอำมาตย์ใหญ่ ได้ไปต่อในสนาม กทม. ทำงานโปรเจ็กต์ใหญ่แบบไร้รอยต่อ นายทุนใหญ่ได้ประโยชน์แบบ วิน-วิน

ไม่มีเหตุผลที่นายทุนใหญ่จะไม่รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เครื่องมือสุดท้ายที่ทรงพลัง คือ “ซื้อออก”