แบงก์ซี สตรีตอาร์ตผู้ลึกลับ ศิลปะตลกร้ายสะท้อนสังคม

แบงก์ซี
ผู้เขียน : ชัชพงศ์ ชาวบ้านไร่

แบงก์ซี (Banksy) นามแฝงของศิลปินสตรีตอาร์ตชาวอังกฤษที่ทรงอิทธิพลแห่งยุค ผู้ขับเคลื่อนสังคมผ่านงานศิลปะด้วยลายเส้นอันมีเอกลักษณ์ ผลงานของเขากระจายอยู่ในหลายเมืองทั่วโลกที่เขาได้มีโอกาสไปสัมผัสและใช้ชีวิต ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดรู้แจ้งว่า “แท้จริงแล้วเขาคือใคร”

แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีโอกาสชม “ผลงาน” ของแบงก์ซีในประเทศไทย แต่วันนี้เป็นไปได้แล้ว และเกิดขึ้นที่ MOCA พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ริมถนนโลคอลโรด ย่านวิภาวดีรังสิต-บางเขน ภายใต้เรื่องราวจากนิทรรศการ THE ART OF BANKSY : “WITHOUT LIMITS” ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“แทนที่จะโยนระเบิด ทำไมไม่โยนดอกไม้ให้กัน”

ในแวดวงศิลปะ “แบงก์ซี” ถูกกล่าวถึงในฐานะศิลปินที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่เสียดสีสังคม การเมือง ต่อต้านทุนนิยม และสงคราม ที่แทรกอารมณ์ขันแบบหยิกแกมหยอกหรือ “ตลกร้าย” ไว้ในผลงาน จนกลายเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าของหมู่นักสะสมทั่วโลก

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK) จึงร่วมกับ King Power และ Plan B Media พร้อมด้วย EVENTS บริษัทจัดงานชั้นนำจากยุโรปที่หลงใหลในศิลปะ และผลงานของแบงก์ซี รวบรวมผลงานกว่า 150 ชิ้นของแบงก์ซี โดยมีทั้งผลงานต้นฉบับที่ผ่านการรับรองจาก Pest Control องค์กรที่ตรวจสอบความแท้ สำหรับผลงานของแบงก์ซีโดยเฉพาะ ทั้งภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ประติมากรรม และจิตรกรรมฝาผนัง

นอกจากนี้ยังมีผลงานบางส่วนที่ถูกทำซ้ำขึ้น เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของแบงก์ซีสู่สาธาณชน ด้วยเทคนิคดิจิทัลและการฉลุลาย มาจัดแสดงที่ MOCA พิพิธภัณฑ์ที่ชูความดั้งเดิมผสมผสานกับความร่วมสมัยอย่างลงตัว บนพื้นที่กว่า 700 ตารางเมตร

แบงก์ซี

THE ART OF BANKSY : “WITHOUT LIMITS” ได้ดีไซน์ทางเข้างาน ภายใต้กิมมิก “Dismaland” ด้วยผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ที่สุดของแบงก์ซีในปี 2015 และได้รับขนานนามว่า เป็นงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นการสร้างสวนสุดเศร้าขึ้นมาเท่าขนาดจริง ล้อจากสวนสนุกที่เป็นดินแดนแห่งความสุข ใส่ความตลกร้ายอันหดหู่ และสิ้นหวังที่คนอีกจำนวนมากต้องเจอในโลกแห่งความเป็นจริง

ผลงานชิ้นไฮไลต์ของแบงก์ซีที่ถูกนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ล้วนสื่อถึงอุดมการณ์ของเขาได้อย่างชัดเจน เช่น Flower Thrower ภาพชายสวมหน้ากากคล้ายผู้ประท้วงที่กำลังขว้างช่อดอกไม้ ถือเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาและได้รับการทำซ้ำอย่างกว้างขวาง

ศิลปะชิ้นดังกล่าวสื่อถึงความหวังแห่งสันติภาพ และเกิดเป็นข้อความอันทรงพลังว่า “แทนที่จะโยนระเบิด ทำไมไม่โยนดอกไม้ให้กัน”

แบงก์ซี

งานชิ้นต่อมาคือ Flying Copper ภาพตำรวจติดปีก พร้อมใบหน้ายิ้มแย้ม แต่เต็มไปด้วยอาวุธหนัก แบงก์ซีต้องการสื่อถึงขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของตำรวจ เป็นภาพไอคอนิกจากผลงานชุดแรก ๆ ปรากฏครั้งแรกในรูปแบบภาพขนาดใหญ่ที่ถูกแขวนอยู่บนเพดาน ณ Turf War นิทรรศการใหญ่ครั้งแรกของเขาในโกดังแห่งหนึ่ง ณ กรุงลอนดอน เมื่อปี 2003

ผลงานอีกชิ้นที่แบงก์ซีพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมนุษย์ที่ถูกเลือกปฏิบัติ คือ Welcome Mat พรมที่ถูกทอขึ้นด้วยด้ายจากเสื้อชูชีพของผู้อพยพ เป็นผลงานที่วิจารณ์วิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพในปัจจุบัน

แม้จะกล่าวว่า ยินดีต้อนรับ แต่ก็ยังมีหลายประเทศ หรือข้อกฎหมายที่กีดกันผู้คนเหล่านี้อยู่ เป็นการประชดประชันที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมต้องฉุกคิด

สื่อสารผลงานศิลปะ ที่ดูแข็งแรงและมีพลังมาก

นิทรรศการ THE ART OF BANKSY : “WITHOUT LIMITS” เคยสร้างประสบการณ์อันล้ำค่าและความประทับใจให้ผู้เยี่ยมชมมาแล้วกว่า 18 เมืองสำคัญทั่วโลก โดยในแต่ละเมืองจะดีไซน์การจัดงานให้แตกต่างกันไป

ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนไปจัดงานแสดงยังประเทศต่าง ๆ จึงมีการเพิ่มผลงานของแบงก์ซี เพื่อเป็นไฮไลต์ให้กับประเทศนั้น ๆ

ที่ประเทศไทยในครั้งนี้คือ ภาพ Bronx zoo เสือดาวที่ถูกสร้างขึ้นด้วยลายกราฟิตี้ โดยต้นฉบับเป็นงานสตรีตอาร์ตบนกำแพง ในย่าน Bronx, New York ซึ่งมีสวนสัตว์ Bronx ตั้งอยู่และเป็นย่านของคนอพยพผิวสี แบงก์ซีต้องการสื่อและเสียดสีในประเด็นดังกล่าวที่ได้รวมผู้อพยพไปไว้ในที่เดียวกัน

นอกจากผลงานศิลปะหลากหลายประเภทที่ถูกนำมาจัดแสดง ไฮไลต์อีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการนี้คือ “อินฟินิตี้รูม” ห้องกระจกรอบด้านที่จัดแสดงผลงานของแบงก์ซีด้วยดิจิทัลกราฟิก จุดประสงค์ของห้องนี้คืออยากให้ผู้ชมเข้าไปอยู่ในสมองของแบงก์ซี โดยเล่าเรื่องชีวิตของเขาผ่านห้องนี้ ซึ่งให้ภาพที่สลับซับซ้อนไปมา

คณชัย เบญจรงคกุล
คณชัย เบญจรงคกุล

คณชัย เบญจรงคกุล ผู้อำนวยการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย กล่าวว่า นิทรรศการนี้จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสถึงแนวคิด และประเด็นที่แบงก์ซีต้องการสื่อสารหรือพูดถึงสังคม ที่มีทั้งการรวบรวมผลงานจริง และทำซ้ำขึ้นมาใหม่ รวมถึงเทคนิคการจัดแสดงด้วยสีสันในหลากหลายรูปแบบให้ได้เสพงานของแบงก์ซีผ่านสื่อต่าง ๆ

จุดประสงค์หลักคือ อยากให้ทุกคนได้มาอ่านความหมายของแต่ละชิ้นงาน ได้เข้าใจถึงสิ่งที่เเบงก์ซีจะสื่อ ทั้งปัญหาสังคม ชนชั้น ความเท่าเทียม รวมไปถึงสงครามและผู้ลี้ภัยในหลายภูมิภาคทั่วโลก

“คนทั่วไปรู้จักแบงก์ซี แต่ไม่ค่อยรู้ถึงสิ่งที่แบงก์ซีต้องการสื่อสารผ่านผลงาน ถ้ามาดูอย่างจริงจังแล้ว เมสเสจนั้นค่อนข้างแข็งแรงและมีพลังเป็นอย่างมาก” คณชัยกล่าวสรุป พร้อมเชิญชวน

แบงก์ซี

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถมาเยี่ยมชมนิทรรศการ THE ART OF BANKSY : “WITHOUT LIMITS” ได้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA) รวมระยะเวลาจัดแสดงประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2565

รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบให้กับ M.V.Louise Michel องค์กรช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทางทะเลบนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่แบงก์ซีให้การสนับสนุน

“ศิลปะ” ของแบงก์ซี จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงานที่เสพเพื่อความสุนทรีย์

หากแต่เป็น “พลัง” และ “เสียง” ของผู้คนที่พยายามร่วมกันขับเคลื่อนหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้