เปิดที่มาคำว่า “Gaslighting” ปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัว

Gaslighting แปลความหมาย
ภาพจาก Canva

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาทำความรู้จักคำว่า “Gaslighting” หรือการปั่นหัวให้รู้สึกผิดโดยไม่รู้ตัว ที่กำลังได้รับความสนใจบนโลกออนไลน์

วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หนึ่งในประเด็นดังที่ผู้คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นแฮชแท็ก #นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และการที่สื่อหลายสำนักออกมาดำเนินการลบหรือนำคอนเทนต์ที่ “ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ” นักสื่อสารวิทยาศาสตร์รายหนึ่งมีส่วนร่วมออกจากช่องทางการเผยแพร่สาธารณะ เนื่องจากไม่ต้องการสนับสนุนบุคคลที่มีพฤติกรรมคุกคามผู้อื่น

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้คำว่า “Gaslighting” กลายเป็นคำที่เข้ามาอยู่ในความสนใจของผู้คนบนโลกออนไลน์ พร้อมทั้งพยายามตามหาความหมายที่แท้จริงของคำนี้ด้วย

แล้วคำว่า “Gaslighting” มีความหมายและที่มาของคำอย่างไร ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลมาสรุปไว้ดังนี้

ความหมายของ “Gaslighting”

Oxford Learner’s Dictionaries ให้ความหมาย “Gaslighting” ไว้ว่า กระบวนการที่ทำให้ผู้อื่นเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงเพื่อให้ผู้กระทำมีอำนาจในการควบคุมจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดหรือความรู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ Gaslighting ยังถูกใช้เพื่ออธิบายรูปแบบของการควบคุมทางจิตใจ (psychological manipulation) ผ่านการสร้างความแคลงใจ ความสงสัย ความสับสน และการทำให้รู้สึกผิดด้วยเรื่องราวที่เป็นเท็จและการบีบให้ผู้ถูกกระทำตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือเหมาะสมแล้วหรือไม่

ตัวอย่างบทสนทนาที่เข้าข่าย Gaslighting เช่น คิดไปเองหรือเปล่า, เพราะเธอทำแบบนั้น ฉันถึงเป็นแบบนี้, เธอจำผิดแน่ ๆ ลองนึกใหม่ดี ๆ ก่อน เป็นต้น

ซึ่งผู้ถูกกระทำที่ถูก Gaslighting มานานจะเริ่มสูญเสียความเป็นตนเอง รู้สึกอ่อนแอ ไม่มั่นคง โดดเดี่ยว ไร้พลัง รวมถึงตั้งคำถามซ้ำไปซ้ำมากับตนเอง ไม่สามารถหลุดพ้นจากห้วงความคิดได้ จนกลายเป็นการบั่นทอนจิตใจไปเรื่อย ๆ บางรายต้องเข้ารับการปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อฟื้นฟูพลังและความมั่นใจในการใช้ชีวิตให้กลับคืนมา

ที่มาของ “Gaslighting”

รายงานจากสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) เปิดเผยว่า คำว่า “Gaslighting” มีที่มาจากละครเวทีเรื่อง “Gaslight” ที่เริ่มทำการแสดงในปี 2481 ก่อนจะนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2487 ซึ่งนำแสดงโดย “อิงกริด เบิร์กแมน” (Ingrid Bergman)

ภาพยนตร์เรื่อง Gaslight เล่าถึงสามีที่พยายามหลอกภรรยาของตนด้วยการทำให้ตะเกียงในบ้านติด ๆ ดับ ๆ หรือบางครั้งก็หรี่แสงลง และทำให้ไฟสว่างเช่นเดิม ซึ่งภรรยาสังเกตได้ถึงความผิดปกติจึงตัดสินใจถามสามีไปตรง ๆ แต่คำตอบที่ได้รับกลับเป็นการยืนยันว่าไม่มีอะไรผิดปกติ จนทำให้ภรรยาเริ่มไม่มั่นใจในความคิดของตนเอง

ซึ่งความนิยมของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทำให้คำว่า “Gaslight” ได้รับความสนใจจากผู้คนมากขึ้น จนนำไปสู่การนิยามถึงพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดว่า “Gaslighting”

นอกจากนี้ คำว่า “Gaslighting” ยังถูกใช้ในบริบททางการเมืองในปี 2561 ด้วย เมื่อประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” (Donald Trump) ใช้คำนี้ในการยืนยันบ่อยครั้งว่าสื่อกำลังเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อโจมตีถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งของตนเอง